สวรรค์ชั้นดุสิต

สวรรค์ชั้นที่ ๔
ดุสิตาเทวภูมิ

เทวภูมิอันดับที่ ๔ นี้ เป็นแดนแห่งความสุข ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพเจ้าชาวฟ้าทั้งหลาย ผู้มีความยินดีและความแช่มชื่นอยู่เป็นนิตย์ โดยมีเทพเจ้ามเหศักดิ์ทรงนามว่าสมเด็จท้าวสันดุสิตเทวาธิราช ทรงเป็นอธิบดี เพราะฉะนั้นสรวงสวรรค์ชั้นนี้ จึงมีนามว่าดุสิตาเทวภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพ อันมีท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิราชทรงเป็นอธิบดี

แดนแห่งความสุขเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า อันมีนามว่า ดุสิตาเทวภูมินี้ เป็นเทพนคร ที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไปในเบื้องบน ไกลแสนไกล ภายในเทพนครนี้ปรากฏว่ามีปราสาทวิมานอยู่ ๓ ชนิด คือ
๑. รัตนวิมาน วิมานแก้ว
๒. กนกวิมาน วิมานทอง
๓. รชตวิมาน วิมานเงิน
ปราสาทวิมานเหล่านี้ ตั้งอยู่เรียงรายมากมาย แต่ละวิมานเป็นปราสาทสวยสดงดงาม มีความวิจิตรตระการตาเหลือที่จะพรรณนา และมีรัตนปราการกำแพงแก้วล้อมรอบทุก ๆ วิมาน มีรัศมีรุ่งเรืองเลื่อมพรรณราย สวยงามยิ่งกว่าปราสาทพิมานแห่งเทพยดาในสรวงสวรรค์ชั้นยามาภูมิ

นอกจากนั้น ณ สถานที่ต่าง ๆ ในเทวสถานชั้นนี้ ยังมีสระโบกขรณีและอุทยานอันเป็นทิพย์ สำหรับเป็นที่เที่ยวเล่นให้ได้ความชื่นบานเริงสราญแห่งเทพเจ้าชาวสวรรค์ชั้นนี้มากมายนัก
สำหรับปวงเทพเจ้าผู้สถิตอยู่ในดุสิตสวรรค์นี้นั้น แต่ละองค์ย่อมปรากฏมีรูปทรงสวยงาม มีความสง่ากว่าเหล่าเทพยดาชั้นต่ำ ๆ ทั้งมีน้ำใจรู้บุญธรรมเป็นอย่างดี มีจิตยินดีต่อการสดับรับฟังพระธรรมเทศนาเป็นยิ่งนัก

ทุกวันธรรมสวนะเทพเจ้าเหล่านั้น ย่อมจะมีเทวสันนิบาตประชุมฟังธรรมกันเสมอมิได้ขาดเลย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่องค์สมเด็จท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิราช จอมเทพผู้มีอิสริยยศยิ่งใหญ่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ทรงเป็นเทพเจ้าผู้พหูสูตร เป็นผู้รู้ธรรมะแห่งองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก ซึ่งมีพระเทวอัธยาศัยยินดีในอันที่จะสดับธรรมเทศนา

และอีกประการหนึ่ง ตามปรกติดุสิตสวรรค์นี้ เป็นที่สถิตอยู่แห่งเทพบุตรผู้เป็นโพธิสัตว์ ซึ่งมีโอกาสจักได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต

เพราะฉะนั้น จอมเทพท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิบดี จึงมักมีเทวโองการ ตรัสอัญเชิญให้เทพบุตรพระโพธิสัตว์ผู้ทรงปัญญานั้นเป็นองค์แสดงธรรมดังเช่นในปัจุบันนี้ สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือปรากฏเป็นที่รู้กันอยู่ที่ไปในหมู่ชาวพุทธบริษัทว่าจักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอันตรกัปที่ ๑๓ แห่งภัทรกัปนี้ พระองค์ก็สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นนี้ และมักจะได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงธรรมโปรดเหล่าเทพบริษัทในดุสิตสรรค์แดนสุขาวดีนี้อยู่เสมอ

นอกจากจะเป็นสรวงสวรรค์ขึ้นสำคัญ เพราะเป็นที่สถิตอยู่ แห่งปวงเทพเจ้าผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีจิตใจอันสูงส่งด้วยคุณธรรม และเป็นที่สถิตอยู่แห่งองค์พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว ในขณะนี้ แดนสวรรค์ชั้นดุสิต ยังเป็นที่สถิตอยู่แห่งเทพเจ้าองค์สำคัญซึ่งเราท่านทั้งหลายรู้จักกันดี เทพเจ้าองค์นี้ก็คือ

 
สิริมหามายาเทพบุตร
เล่ากันสืบมาว่า

สมเด็จพระนางยาสิริมหามายาพุทธมารดาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ผู้เป็นเอกอัครมเหสีในสมเด็จพระนฤบดีสุทโธทนะนั้น ครั้นประสูติพระอังคีรสโพธิสัตว์อันเป็นพระบรมราชโอรสได้เพียง ๗ วันเท่านั้น ก็ดับขันธ์ถึงแก่ชีพิตักษัยจากมนุษย์ขึ้นมาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรสุดโสภา ณ แดนดุสิตสวรรค์นี้ เสวยทิพยสมบัติมีนางเทพอัปสรมากมายเป็นบริวาร แต่จะได้ยินดีในการเสพเบญจกามคุณกับด้วยนางฟ้าเหล่านั้นก็มิได้

ในกรณีนี้หากจะมีปัญหาว่า เหตุไฉน สมเด็จพระสิริมหามายา จึงไม่อุบัติเป็นเทพธิดา เพราะพระนางทรงไว้ซึ่งสตรีเพศ เหตุใดจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร ดูน่าสงสัยเป็นนักหนา

คำวิสัชนาก็มีว่า เป็นวิสัยธรรมดาแห่งพระพุทธชนนีผู้มีบุญญาธิการ ถ้าหากว่าจะอุบัติเกิดเป็นเทพนารีทรงมีพระสิริลักษณ์อันงดงามหาที่เปรียบมิได้แล้วไซร้ เทพบุตรองค์ใดมีปฏิพัทธ์จิตคิดรักใคร่ในพระรูปพระโฉม กำเริบด้วยราคะดำฤษณา ก็จักบังเกิดเป็นโทษแก่เทพบุตรองค์นั้นเป็นนักหนา ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระพุทธมารดาในปัจฉิมภวิกชาติจึงอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร สถิตเสวยสุขอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดุสิต

ในกาลที่สมเด็จพระขนสีห์บรมไตรโลกนาถได้ทรงกระทำปาฏิหาริย์ทรมานเดียรถีย์ศาสนาต่าง ๆ ณ มิ่งไม้คัณฑามพฤกษ์สำเร็จอย่างน่าสรรเสริญแล้ว  ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระดำริว่า

"พระสิริมหามายา ผู้เป็นพระชนนีเจ้าแห่งตถาคตนี้ มีคุณูปการะและรักใคร่ในตถาคตปานดวงฤทัย ได้ตั้งความปรารถนาเป็นมารดาแห่งตถาคตมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า จนตราบถึงบัดนี้ ก็นับเป็นเวลานานถึงแสนกัลป์ ฉะนั้นจึงควรแล้ว ที่ตถาคตจักไปแสดงธรรมโปรดสนองพระคุณในกาลครั้งนี้"

เมื่อมีพระพุทธดำริฉะนี้แล้ว สมเด็จองค์พระประทีปแก้วจอมมุนีเจ้าจึงเสด็จขึ้นไปยังไตรตรึงษ์เทวโลก ประทับเหนือปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภายใต้ไม้ปาริฉัตกพฤกษ์

สมเด็จพระอมรินทรเทวาธิราช ผู้ทรงเป็นใหญ่ในแดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ทรงทราบข่าว จึงรีบเสด็จออกมาจากไพชยนตปราสาททิพยวิมาน แล้วมีเทวราชโองการประกาศก้องป่าวร้องแก่เหล่าเทพยดาทั้งหลายว่า

"ดูกรท่านทั้งหลาย ผู้นฤทุกข์ ! ท่านทั้งหลายจงอย่าได้ช้า จงออกมาเถิด บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาโปรดถึงพิภพของพวกเราแล้ว เป็นบุญลาภอันประเสริฐล้ำเลิศของพวกเราหาที่เปรียบมิได้ จงออกมาเถิด เราจะพากันไปเฝ้าและสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์ อย่าได้ช้า"

เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ได้ฟังพระสุรเสียงแห่งเทพผู้เป็นนายคือ องค์อินทร์ทรงประกาศเองเช่นนั้น ก็รีบพากันออกจากวิมานทิพย์ด้วยความดีใจ มีหัตถ์ถือดอกไม้และเครื่องสักการะของหอมมาเฝ้าแวดล้อมบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เนืองแน่น สมเด็จพระบรมครูเจ้า มีพระหฤทัยปรารถนาจักให้พระพุทธมารดาเสด็จมาสู่ที่นั่น ทรงทอดพระเนตรไปในระหว่างแห่งเทพนิกรบริษัท มิได้ทัศนาเห็นพระพุทธชนนี จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามองค์อมรินทราธิราชว่า

"พระสิริมหามายา ผู้เป็นชนนีของตถาคต มิได้เสด็จมาที่นี้หรือประการใด"

องค์ท้าวสหัสนัยน์ ได้สดับพระพุทธฏีกาที่ตรัสถามเช่นนั้น ก็ทรงทราบพระพุทธประสงค์โดยพลันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาครั้งนี้ คงมีพระกมลประสงค์จะแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาให้ได้บรรลุพระอริยมรรคอริยผลเป็นแม่นมั่น

ครั้นทรงดำริฉะนี้แล้ว องค์ท้าวโกสีย์จึงรับเร่งเหาะไปโดยเทวฤทธิ์ ถึงภิภพดุสิตแดนสุขาวดีอันเป็นที่สถิตอยู่ แห่งพระสิริมหามายาเทพบุตรแล้ว ก็ถวายอภิวันทน์โดยเคารพและทูลว่า

"ข้าแต่พระสิริมหามายาเจ้า ผู้เจริญด้วยสิริสวัสดิ์ ! บัดนี้ สมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เสด็จมาสู่พิภพไตรตรึงษ์แห่งข้าพระบาท ประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ปาริฉัตกพฤกษชาติ ประทับคอยท่าเพื่อจะตรัสพระธรรมเทศนา ขอเชิญพระองค์เสด็จไปเฝ้าโดยเร็วเถิด พระเจ้าข้า"

สิริมหามายาเทพเจ้า ผู้เป็นพระพุทธชนนี ได้ทรงสดับท้าวโกสีย์ผู้เป็นจอมเทพในแดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มากราบทูลดังนั้น ก็พลันบังเกิดความปีติตื้นตัน ตรัสถามว่า

"ดูกรท่านท้าววชิรปาณีผู้เป็นใหญ่ ! พระบรมโอรสาธิราชของเรานั้นไซร้ ทรงพระสิริรูปโฉมเป็นประการใด ท่านได้เห็นเป็นประการใด จงรีบบอกแก่เราไปให้แจ้งในบัดนี้"
ท้าวสักกะวชิรปาณี จึงทูลว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เป็นพระพุทธมารดา ! พระบรมโอรสของพระองค์นั้น จะหาผู้ใดผู้หนึ่งเปรียบปานนั้นมิได้ในไตรภพ พระสรีราพยพประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ และพระอนุพยัญชนะสมบูรณ์ทุกประการ มีพระรัศมีซ่านออกจากพระบวรกายหกประการ มีพระสุรเสียงกอปรด้วยองค์แปดประการ ไพเราะจะหาผู้จะเสมอมิได้"
ได้ทรงสดับดังนั้น พลันพระสิริมหามายาเทพบุตร ก็ทรงพระโสมนัสว่า

"อาตมะนี้ไปเกิดในโลกครั้งหนึ่ง ถึงบุญลาภนักหนา ชื่อว่าไม่มีใครเทียมเปรียบได้ ด้วยว่าได้เป็นพระพุทธมารดา"

แล้วก็รีบด่วนทรงทิพยภูษา ชวนเทพอัปสรกัญญา ลงมาจากดุสิตปราสาทพิมาน มีท่านท้าวมัฆวานนำเสด็จมาในเบื้องหน้า
ครั้นเสด็จมาถึง ได้ทอดพระเนตรเห็นองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ก็ยิ่งตะลึงลาน ทรงพระปรีดาภิรมย์ เพลินชมพระรูปพระโฉมจนทรงลืมอาลัยในดุสิตวิมานชมพลางก็เศร้าโศกเสียพระหฤทัยว่า

"อาตมะนี้เป็นคนบุญน้อย ประสูติสมเด็จพระพุทธองค์อันเป็นพระบวรดนัยได้ ๗ วันเท่านั้น ก็ด่วนดับขันธ์ทำกาลกิริยา มิได้เห็นพระลูกรักอันทรงบุญญาภิหาร เป็นเวลาช้านานถึงเพียงนี้ นี่ดีแต่ท้าวโกสีย์เสด็จไปบอก จึงได้มีโอกาสมาพบพระบวรโอรส"
พระสิริมหามายาเทพบุตร ทรงพระกันแสงกำสรด แล้วก็กลับทรงพระสรวลว่า

"อาตมะนี้ไม่ควรจะปริเทวนาการ ด้วยว่าอันผู้เกิดมาในวัฏสงสาร จะได้มีบุญญาธิการเป็นพระพุทธมารดาดังอาตมะนี้ยากนักหนา นับเป็นเวลาช้านานกว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าจักมาตรัสแต่ละพระองค์

ก็แลว่าพระพุทธมารดานั้น จะมีได้ก็แต่ผู้เดียวเท่านั้นไม่มีสอง อาตมะนี้แล ก็ได้เป็นพระพุทธมารดา ฉะนั้นควรจะถือว่า เป็นกุศลแห่งอาตมะโดยยิ่ง ได้ซึ่งมิ่งมหามงคลลาภอดูลย์ มิได้สูญเสียทีที่อาตมะอุ้มพระครรภ์มา ได้ซึ่งพระบรมโอรสอันประเสริฐ กอปรด้วยผลประโยชน์ล้ำเลิศเห็นปานดังนี้"

ส่วนสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระพุทธประสงค์ทรงปรารถนาจะกระทำปัจจุปการสนองคุณพระชนนีของพระองค์ จึงทรงพระพุทธจินตนาการว่า

"พระคุณแห่งพระมารดาอันได้ทำไว้แก่ตถาคตนี้ยิ่งใหญ่สูงสุด ซึ่งจะคณนาหนากว้างแลคัมภีรภาพพ้นที่จะกำหนด และธรรมอันใดสมควรที่จะทดแทนสนองคุณพระชนนี พระวินัยปิฎกแลพระสุตตันตปิฎก อันมีพระธรรมขันธ์ปิฎกละ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ยังน้อยเบา มิเท่าทันกับพระคุณแห่งพระพุทธชนนี เห็นมีอยู่ก็แต่พระอภิธรรมปิฎกอันมีประมาณ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เท่านั้นที่จะเทียมทันยกขึ้นขึ้นเปรียบปูนเท่ากันกับคุณพระมารดา ก็คุณแห่งพระชนนีนั้นสูงกว้างใหญ่หนามีประมาณเท่าใด ก็แลคุณพระอภิธรรมปิฎก ก็ยกชั่งขึ้นมีความสูงกว้างใหญ่หนาและคัมภีรภาพมีประมาณเท่านั้น สมควรที่ตถาคตจะทำปัจจุปการสนองคุณพระมารดา ด้วยอภิธรรมเทศนาในกาลบัดนี้"

ขณะนั้น สมเด็จพระจอมมุนีพุทธองค์ ทรงมีพระทัยปรารถนาจะชำระขีรมูล คือจะใช้ค่าน้ำนมของพระพุทธมารดา ในอดีตปุเรชาติทั้งหลายอันนับด้วยกัลปเป็นอันมาก มีครุวนาดุจ จะและเปลี่ยนปณีตวัตถุอันมีค่ามาก กับด้วยวัตถุที่มีค่ามากดุจกัน หรือมิฉะนั้นก็มีครุวนาดุจ จะแลกเปลี่ยนซึ่งสิ่งของอันหาค่ามิได้ กับด้วยสิ่งของอันหาค่าบ่มิได้เหมือนกันดังนั้น จึงทรงเหยียดออกซึ่งทักษิณหัตถ์ อันวิจิตรไปด้วยตาข่ายลายจักรลักษณะ จากระหว่างผ้าสังฆาฏิ ตรัสเรียกพระพุทธมารดาว่า

"ข้าแต่พระชนนี ! พระชนนีจงมานี่ พระชนนีจงมานี่ จะทอดพระเนตรดูไปไยซึ่งสรีระรูปโฉมอันเป็นอนิจจัง พระพุทธมารดาจงมาใกล้ ๆ นี่เถิด ตถาคตจะให้ซึ่งขีรมูลแลโปสาวนิกมูล ใช้ค่าน้ำนมและข้าวป้อนของพระมารดา อันเลี้ยงดูตถาคตมาด้วยความเหนื่อยยาก แต่อเนกอนันตชาติ ในอดีตภพนานนักหนา"

พระสิริมหามายาเทพบุตรได้ทรงสดับก็ได้พระสติ เสด็จเข้ามาใกล้ประทับนั่งข้างหน้า เป็นประธานแห่งหมู่เทพยดาทั้งหลาย ตั้งพระทัยที่จักสดับพระธรรมเทศนา สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ ก็โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาพระสัตตปกรณาภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์

ครั้นได้สดับพระธรรมเทศนาแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์จบลง องค์พระสิริมหามายาเทพบุตรผู้พระพุทธชนนี ก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระบวรพุทธศาสนา แล้วเสด็จกลับไปเสวยทิพยสมบัติอันเป็นสุข ณ ปราสาทพิมานแห่งตน ในแดนสวรรค์ชั้นดุสิต แม้ทุกวันนี้ก็ยังเสวยสุขอยู่อย่างชื่นบานเริงสราญ ด้วยอำนาจแห่งบุญญาธิการ ที่ได้สร้างสมอบรมไว้แต่ปางบรรพ์

จึงเป็นอันว่า เหล่าเทพเจ้าผู้มเหศักดิ์ทั้งหลาย ผู้ได้ก่อสร้างกองการกุศลเอาไว้ และด้วยเดชะแห่งกุศลนั้นเป็นแรงผลักดันส่งให้มาเกิดในสรวงสวรรค์ชั้นนี้ ย่อมมีรูปทรงวงพักตร์และสัณฐานงดงามรุ่งเรือง มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสดชื่นรื่นเริง ยิ่งกว่าเทพยดาชาวฟ้ายามาสวรรค์ทั้งหลาย ได้เสวยทิพยสมบัติอันเป็นสุขตามสมควรแก่อัตภาพ และสมเด็จท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิราชเจ้า ผู้ทรงเป็นเทวาธิบดีปกครองสรวงสวรรค์ชั้นนี้เล่า พระองค์ก็ทรงเป็นสัตบุรุษ มีน้ำพระทัยประกอบไปด้วยกุศลยุติธรรม ทรงปกครองเหล่าเทพเจ้าให้ได้รับความชุ่มฉ่ำเย็นใจ ได้รับความผาสุกทุกทิพาราตรีกาล

 
ทางไปสวรรค์ชั้นดุสิต

หากจะมีปัญหาว่า
การที่จักได้มีโอกาส ไปอุบัติเกิดเป็นเทพเจ้า เสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ ณ แดนสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ จักต้องทำประการใดบ้าง
คำวิสัชนาก็มีว่า
ต้องอุตส่าห์พยายามสร้างเสบียง กล่าวคือบุญกุศล ต้องมีกมลสันดานชอบสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เพื่ออบรมปัญญาให้เจริญผ่องใส ไม่หวั่นไหวโยกคลอนในการประกอบกุศลจริต ไม่เป็นผู้มัวเมาประมาทในวัยและชีวิตของตน เร่งสร้างบุญกุศล เช่นบำเพ็ญทานและรักษาศีลเป็นเนืองนิตย์ ทั้งนี้ ก็โดยมีพระบาลีชี้ทางไปสู่แดนสวรรค์ชั้นดุสิต ไว้ในสูตรต่าง ๆ ที่ควรจักทราบดังต่อไปนี้

 
ทานสูตร

ดูกรสารีบุตร ! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า
"บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี  แต่ให้ทานด้วยคิดว่า

"เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร"

เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยาตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดุสิต

 
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฎสงสารทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ท้าวสันดุสิตเทพบุตร จอมเทพในชั้นดุสิตนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ท้าวเธอ จึงทรงเจริญรุ่งเรืองก้าวล่วงเหล่าเทวดาชั้นดุสิตสวรรค์ โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ
๑. อายุทิพย์
๒. วรรณทิพย์
๓. สุขทิพย์
๔. สุขทิพย์
๕. อธิปไตยทิพย์
๖. รูปทิพย์
๗. เสียงทิพย์
๘. กลิ่นทิพย์
๙. รสทิพย์
๑๐. โผฏฐัพพะทิพย์

 
สังคีติสูตร

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าวน้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่นั่ง ที่พัก ที่อาศัยและสิ่งที่เป็นอุปกรณ์แก่ประทีป ให้เป็นทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนให้ไป โดยเขาได้ฟังมาว่า "พวกเทพเจ้าเหล่าดุสิตสวรรค์เป็นเทพที่มีอายุยืน มีวรรณะงาม มากไปด้วยความสุข"

ดังนี้แล้ว เขาจึงจินตนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพวกเทพเจ้าเหล่าดุสิตสวรรค์เถิด

เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ จิตของเขานั้นน้อมไปในสิ่งที่ทำ มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูง อย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น

ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับบุคคลผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลาย ความตั้งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จลงได้เพราะเป็นของบริสุทธิ์

ข้อความที่ยกขึ้นมาอ้างไว้นี้ ย่อมจักเป็นเครื่องชี้ให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า การที่จักได้มีโอกาสไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา ณ แดนสุขาวดีดุสิตสวรรค์นี้ จักต้องมีปฏิปทาเป็นประการใด ในลำดับต่อไปนี้ จักขอเอาชีวประวัติแห่งมนุษย์ ผู้ตายไปผุดเกิดเป็นเทพยดาในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลกมาเล่าให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้รับฟังไว้ดังนี้

 
อนาถปิณฑิกเทพบุตร

ได้สดับมาว่า ครั้งอดีตกาลนานมาแล้ว ในสมัยที่พระมิ่งมงกุฎปทุมุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ มีมาณพหนุ่มผู้หนึ่ง ได้เห็นองค์สมเด็จพระจอมมุนีพระองค์นั้น ซึ่งทรงตั้งอุบาสกคฤหบดีผู้หนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเลิศกว่าบรรดาทายกทั้งหลายแล้ว มีความพอใจยินดี จึงกระทำอธิการกุศลแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น ครั้นเขาทำกาลกิริยาตายแล้ว ได้ท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในกำเนิดแห่งเทวดาและมนุษย์ ด้วยอำนาจแห่งวัฏสงสารเป็นเวลาช้านาน

ตกมาถึงสมัยที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสมณโคดมบรมครูเจ้าแห่งเรา ได้เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกในพุทธาปาทกาลนี้ มาณพหนุ่มนั้น ได้มาเกิดเป็นบุตรของท่านสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี มีนามว่า "สุทัตกุมาร" ครั้นเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเศรษฐีสืบตระกูลแทนบิดา

เพราะเหตุที่ท่านสุทัตตะเศรษฐี มีทรัพย์มากและยินดีในการบริจาคทาน ให้แก่คนอนาถาทั้งหลายเป็นประจำ ชนทั้งหลายจึงขนานนามท่านเศรษฐีนั้น ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา

อยู่มาคราวหนึ่ง ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ได้บรรทุกสินค้าเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียนออกจากกรุงสาวัตถี มุ่งหน้าเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วก็นำขบวนเกวียนเข้าไปพักที่บริเวณบ้านท่านราชคหกเศรษฐี ซึ่งเป็นพี่ชายแห่งภริยาของตน

ขณะนั้นราชคหกเศรษฐีได้นิมนต์พระสงฆ์ ซี่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานไว้ เพื่อจักถวายอาหารบิณฑบาต จึงเร่งสั่งกำชับพวกทาสกรรมกรทั้งหลายอยู่อย่างวุ่นวาย ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าเจ้าพวกนั้น เขาจะแจงอาหารเพื่อถวายพระสงฆ์บกพร่องไม่เรียบร้อย อนาถบิณฑิกคฤหบดี เห็นพี่ภรรยา มีท่าทางวุ่นวายเตรียมงานใหญ่ ก็ให้มีความสงสัยว่า

"เมื่อก่อนนี้พอเรามาถึง ท่านเจ้าของบ้านผู้พี่ชาย ต้องพักกิจการทั้งปวงไว้ แล้วมาต้อนรับแสดงความชื่นชมยินดีในการมาของเราทุกคราวไป แต่ครั้งนี้ เขากังวลแต่สั่งทาสกรรมกรให้จัดทำอาหาร จักมีการแต่งงานหรือการบูชายัญใหญ่ หรือเขาได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีให้มาเสวยในวันพรุ่งนี้หรืออย่างไร"

พอราชคหกเศรษฐีสั่งพวกทาสกรรมกรเสร็จแล้ว ก็ออกไปต้อนรับด้วยความยินดี เช่นเคย อนาถปิณฑิกะผู้น้องเขย จึงถามว่า  "ข้าแต่พี่ ! พี่ได้เตรียมพิธีการใหญ่ให้วุ่นวายอยู่ดังนี้ จะมีการแต่งงานหรือบูชายัญใหญ่ หรือจะมีการเลี้ยงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินท่าน"

"ดูกรน้องรัก ! ที่นี่ไม่มีการแต่งงาน ไม่มีการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเสวยพระกระยาหารเลี้ยง เป็นแต่ได้เตรียมการบูชาไว้ อย่างใหญ่หลวงที่สุด คือพี่ได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระพุทธเจ้าให้พาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายมาเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้"

แต่พอราชคหกเศรษฐีกล่าวดังนี้ ดวงฤดีของอาคันตุกะอนาถปิณฑิกคฤหบดีนั้น ก็พลันหวั่นไหวมึนงง มิอาจจะดำรงจิตให้เป็นการปรกติได้ และโสตประสาทนั้นไซร้ ก็ให้บังเกิดมีอาการอื้ออึงอลวน จนครู่หนึ่งแล้วจึงค่อยเอ่ยปากถามขึ้นได้ว่า

"ข้าแต่พี่ ! เมื่อตะกี้นี้พี่ว่ากระไรนะ ดูเหมือนพี่ว่า "สมเด็จพระพุทธเจ้า"มิใช่หรือ ๆว่ากระไร"

"ถูกแล้ว" เศรษฐีพี่ภริยากล่าวซ้ำ

"จริงฤา ที่พี่ออกนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏขึ้นในโลกแล้วจริงฤา" อนาถปิณฑิกผู้มีวาสนากล่าวคล้ายกับไม่เชื่อหูของตนเอง

จนกระทั่ง ราชคหกเศรษฐีออกพระนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง และกล่าวยืนยันอย่างมั่นคงว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏขึ้นในโลกแล้วจริง ๆ นั่นแหละ อนาถปิณฑิกจึงได้เชื่อ และกล่าวขึ้น ทั้ง ๆ ยังไม่ได้พักผ่อนจากความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเดินทางรอนแรมมาแต่ไกลในขณะนั้นเองว่า

"ข้าแต่พี่ ! เสียงว่า "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" นี้ เป็นเสียงที่ปรากฏมีขึ้นได้ยากในโลก ข้าพเจ้าอาจจะได้เฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐสุดในขณะนี้ได้หรือไม่เล่า"

"ไม่ได้" ราชคหกเศรษฐีบอก "เพราะไม่ใช่เวลาเสียแล้ว รอเอาไว้พรุ่งนี้เถิด น้องเป็นต้องได้เฝ้าสมเด็จพระพุทธองค์เป็นแน่ ขณะนี้พักผ่อนหลับนอนให้เป็นที่สบายเสียก่อนดีกว่า เพราะนี่ก็ย่ำสนธยาแล้ว"

ราตรีนั้น อาคันตุกะผู้มาจากแดนไกล นอนมิค่อยจะหลับลงได้ เพราะในดวงฤทัยนั้นให้พะวงอยู่แต่ว่า"พรุ่งนี้แต่เพลาเช้า เราก็จักมีโอกาสได้เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมโลกกุตมาจารย์"

คืนนั้นเขาได้ตื่นขึ้นมาเป็นครั้งที่ ๓ ในเพลาเที่ยงคืนไปแล้ว แต่เมื่อเห็นว่ายังไม่สว่างจึงกลับลงนอนอีก หลับไปได้หน่อยเดียว ก็ต้องตื่นขึ้นอีกด้วยอำนาจแห่งความใคร่ที่จักได้เห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกำลัง ครั้งนี้อดใจมิได้แล้ว ก็ตัดสินใจฉับพลันลงมาจากตึกชั้นแต่เพียงผู้เดียวในเพลาราตรีนั้น ออกจากบริเวณบ้านอันกว้าวใหญ่ของท่านราชคหกเศรษฐีซึ่งอยู่ในตัวเมือง จักไปยังป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับอยู่แห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า ที่ตนได้ข่าวเมื่อเย็นนี้

ก็ในสมัยนั้น พระนครราชคฤห์เป็นนครหลวงใหญ่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่มากมาย เฉพาะภายในเมืองมีคนอยู่ ๙ โกฏิ และคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกตัวเมืองก็มีประมาณถึง ๙ โกฏิพอๆกัน

เมื่อมีคนอยู่มากเช่นนั้น ก็ย่อมจะต้องมาการตายบ้างเป็นธรรมดา คนที่ถึงแก่มรณะในราตรีนั้น พวกญาติพี่น้องไม่สามารถที่จำนำเอาไปเผาได้ทัน เพราะเป็นเวลากลางคืน จึงนำเอาศพนั้นออกจากบ้านมาวางไว้ข้าง ๆ ทาง ด้วยตั้งใจว่าจักเผาในเวลากลางวัน และคืนนั้นก็มีคนเอาศพมาวางไว้ใกล้ทางอยู่หลายศพ

ท่านมหาเศรษฐีต่างเมือง พอออกมาพ้นประตูเมืองเพื่อเดินทางไปยังป่าสีตวัน ในค่ำคืนอันมืดสนิทและดึกสงัดเงียบ เมื่อเขาเดินมะงุมมะงาหราออกมาด้วยความไม่ชำนาญทางเช่นนั้น พลันเท้าหนึ่งก็เหยียบเอาศพสด ๆ เข้าและอีกเท้าหนึ่งก็สะดุดศพอีกศพหนึ่ง ซึ่งมีฝูงแมลงวันแตกฮือ มีกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจกระทบจมูก

"นี่มันอะไรกัน" มหาเศรษฐีอุทานออกมาด้วยสงสัย พลางก้มหน้าลงไปเพื่อพิจารณาดู พอรู้ว่าเป็นผีตาย ท่านมหาเศรษฐีก็ใจคอหายด้วยความตกใจ จึงยืนชะงักงันอยู่ ความเลื่อมใสอุตสาหะที่จะไปเฝ้าพระสัพพัญญูเจ้าในขณะนั้นก็ลดลงไปหน่อยหนึ่ง

"ช้างร้อย ม้าร้อย รถร้อย สาวน้อยที่ประดับประดาด้วยกุณฑลแก้วมณีอีกตั้งแสน ก็ไม่ประเสริฐดีเท่าเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งการก้าวเท้าไปเพื่อเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงก้าวเดียว ไปเถิดอนาถปิณฑิกคฤหบดี ท่านจงเดินทางต่อไปอีกเถิด อย่าท้อถอย"

เสียงประหลาดเสียงหนึ่งว่าดังนี้ แหวกม่านดำแห่งราตรีลงมาจากเบื้องบนอากาศ ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีแปลกประหลาดและยิ่งตกใจนัก แลเสียงนั้นดังขึ้นตั้ง ๒-๓ ครั้ง ดังนั้น ท่านอนาถปิณฑิกะผู้จะได้เฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้า จึงแหงนหน้าขึ้นฟ้า แล้วถามไปอย่างนั้นเองว่า

"ท่านเป็นใคร ไฉนจึงได้รู้จักเราเล่า"

"เราคือยักษ์ผู้เป็นสัมมาทิฐิ มีนามว่า สีวกยักษ์ มีความรักใคร่เห็นใจท่านนัก จึงคอยพิทักษ์รักษา และได้ส่งเสียงร้องมา ก็เพื่อที่จะให้กำลังใจแก่ท่านคฤหบดี การไปข้างหน้าของท่านประเสริฐ ท่านจงเดินทางต่อไปเถิด การกลับด้วยความท้อถอยศรัทธานั้นไม่ประเสริฐเลย"

เสียงกล่าวตอบลงมาจากเบื้องบน ว่าดังนี้ ซึ่งก็ทำให้ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีมีกำลังใจเดินทางต่อไป จนกระทั่งลุถึงป่าสีตวันอันเป็นที่ประทับอยู่แห่งองค์สมเด็จพระบรมครูเจ้า พร้อมเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย

ในขณะนั้นเป็นเวลาจวนรุ่งสางสว่างแล้ว สมเด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังทรงเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ได้ทรงเห็นท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีมาแต่ไกล จึงตรัสเรียกด้วยพระพุทธอัชฌาสัยว่า  "มาทางนี้ สุทัตตะ !"

อนาถปิณฑิกะผู้มิค่อยจะได้หลับได้นอนเท่าใดนักในคืนนั้น ก็พลันสะดุ้ง แต่เมื่อได้เหลือบไปเห็นพระรัศมีอันพวยพุ่งและพระวรกายอันรุ่งเรืองแห่งองค์พระสัพพัญญูเจ้า ก็เข้าใจได้ในทันทีว่า พระองค์ผู้ทรงรัศมีประมาณวาหนึ่งนี้คือองค์สมเด็จพระโลกเชษฐ เพราะเหตุที่ทรงเรียกว่า "สุทัตตะ" อันเป็นนามเดิมของตนได้อย่างถูกต้อง จึงน้อมกายประคองอัญชลีเข้าไปหมอบลงที่เบื้องบงกชพุทธบาทอยู่ครู่หนึ่ง ด้วยความเลื่อมใสอย่างสุดซึ่งในดวงฤดี แล้วจึงมีวาจาค่อยทูลถามทั้งน้ำตาคลอด้วยปีติว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ราตรีนี้พระองค์ทรงเข้าที่บรรทมค่อยเป็นสุขดีดอกหรือ พระเจ้าข้า"

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทอดพระเนตรดูท่านคฤหบดี ด้วยพระพุทธนัยนาอันประกอบไปด้วยพระมหากรุณาใหญ่ แล้วตรัสตอบไปด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดังเสียงแห่งพระพรหมว่า

"ดูกรอนาถปิณฑิกะ ผู้ที่ดับความร้อนหมดแล้ว ผู้ที่ไม่ติดในกามทั้งหลาย ผู้เย็นแล้ว ผู้ไม่มีอุปธิคือที่ขังทุกข์ ย่อมนอนเป็นสุขทุกเมื่อ"

ครั้นทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้แล้ว ก็ทรงแสดงอนุปุพพีกถา และพระจตุราริยสัจให้ท่านคฤหบดีผู้มีอุปนิสัยได้สดับ แต่พอสดับธรรมีกถาอันเหมาะแก่อุปนิสัยวาสนาบารมี จากพระโอฐแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมไตรโลกนาถเจ้าจบลงแล้ว ท่านอนาถปิณฑิกก็ได้สมบัติแก้ว กล่าวคือได้ธรรมจักษุมีดวงตาปัญญาแจ่มจ้าปราศจากธุลีมลทิน สามารถเห็นนิโรธอริยสัจคือพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลในพระบวรพุทธศาสนา เพราะว่าได้บรรลุพระโสดาปัตติผลในเพลาอรุณรุ่งวันนั้นเอง

วันหลังต่อมา โสดาบันอนาถปิณฑิกคฤหบดี ได้เตรียมพิธีการใหญ่จะถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นประธานขึ้นที่บ้านท่านราชคหกเศรษฐี แม้ท่านผู้ราชคหกเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของบ้าน และสมเด็จพระเจ้าพิมพิสารราชาธิบดี จะรับอาสาจัดอาหารเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์แทน เพราะเห็นว่าท่านอนาถปิณฑกะเป็นแขกต่างบ้านต่างเมือง ไม่ควรจะสิ้นเปลืองทรัพย์ค่าอาหารมากมายเช่นนั้น

แต่ท่านเศรษฐีต่างเมืองผู้มีน้ำใจเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยก็หายินยอมไม่ จัดพิธีการใหญ่เพื่อเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์มากมาย พอได้เวลาก็ใช้ให้คนไปกราบทูลเวลาอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพาพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จเข้าไปเสวย และเมื่อเสด็จจากเสวยแล้ว ท่านอนาถปิณฑิกะผู้เป็นเจ้าภาพ ได้เข้าไปหมอบแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระบาทขอทูลอาราธนา ขอพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ จงทรงอนุเคราะห์เพื่อการพักอยู่ตลอดไตรมาส ณ ที่กรุงสาวัตถีของข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า"
เมื่อทรงรับอาราธนา จึงมีพระพุทธฏีกาตรัสว่า

"ดูกรคฤหบดี ! ธรรมดาว่าพระตถาคตทั้งหลาย ย่อมยินดียิ่งในสถานที่อันสงัด"

"ข้าพระบาท ทราบเกล้าแล้ว พระเจ้าข้า"

เขารับพระพุทธดำรัสฉะนี้แล้ว ก็ส่งเสด็จพระผู้พระภาคเจ้าไปยังสีตวันอันเป็นที่ประทับ ต่อจากนั้น ก็รีบจัดแจงกรณียกิจเกี่ยวกับสินค้าที่บรรทุกมาในเมืองราชคฤห์ จนเสด็จสิ้นแล้วจึงเตรียมเดินทางกลับกรุงสาวัตถี ในเวลาที่เดินทางกลับนั้น เมื่อถึงระยะที่พักในระหว่างทางได้ให้เงินแห่งละ ๑๐๐,๐๐๐ กษาปณ์แก่คนทั้งหลายแล้วสั่งว่า

"พวกท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม จงสร้างวิหาร จงให้ทาน สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์สัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก เราได้ทูลอาราธนาไว้แล้ว พระองค์จักเสด็จมาตามทางนี้ ในไม่ช้านี้แหละ"

บริจาคทรัพย์และสั่งไว้ดังนี้ทุกแห่งตลอดระยะทาง ก็ตามธรรมดา ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีนี้ เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้มีมิตรสหายมาก มีผู้เชื่อถือถ้อยคำเพราะเป็นคนมีศีลธรรมประจำใจอยู่แล้ว ฉะนั้น

พวกคนที่รับคำสั่งตลอดระยะทางก็พากันสร้างอาราม สร้างวิหาร และตระเตรียมจัดของให้ทานไว้ ตามคำของเศรษฐีผู้ใจดีอย่างเรียบร้อยทุกแห่งไป ฝ่ายท่านคฤหบดี เมื่อเดินทางกลับมาถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ก็เที่ยวตรวจดูรอบเมืองสาวัตถี ไม่พบสถานที่ที่เหมาะใจสักแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สมควรจะสร้างวิหาร

จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้เดินเที่ยวหามาจนถึงสวนของ "เจ้าเชตกุมาร" เห็นว่าเป็นสถานที่สมควรแก่การประทับอยู่ขององค์สมเด็จพระบรมครูเจ้า เพราะเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก สมบูรณ์ด้วยทางไปทางมา เหมาะสมกับการที่คนทั้งหลายจะไปมาได้สะดวก กลางวันไม่มีผู้คนพลุกพล่าน กลางคืนเงียบงัด เหมาะแก่การที่จะบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อพบสถานที่อันเหมาะใจเช่นนั้น จึงตรงเข้าไปหาเจ้าเชตกุมารแล้วขอซื้อทันที

"ขายไม่ได้ นอกจากจะเอาเงินมาเรียงเป็นโกฏิ ๆ " ท่านเจ้าของที่กล่าวโดยไม่ประสงค์จะขาย

"ตกลง" ท่านเศรษฐีกลับตอบสั้น ๆ โดยเชตกุมารนั้นไม่คาดฝัน แล้วกลับไปบ้านตน สั่งคนให้บรรทุกเงินเหรียญเป็นเกวียน ๆ นับเป็นเงินถึง ๑๘ โกฏิไปเทลาดจนเต็มสวน ยังเหลืออยู่เพียงที่ใกล้ซุ้มประตูเท่านั้น ก็พอดีเงินที่ขนไปเที่ยวแรกหมดลง จึงสั่งให้คนไปขนเอาเงินที่บ้านมาอีก

ในขณะนั้น เจ้าเชตกุมารผู้ขายที่ จึงคิดว่า "เรื่องนี้คงจักไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว จึงดูท่านคฤหบดีเอาจริงเอาจัง ถึงกับสละเงินมากมายเพียงนี้ สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า คงจักต้องทรงเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐอย่างแน่ ๆ" ดำริฉะนี้แล้วเจ้าเชตกุมารผู้ยังไม่รู้จักสมเด็จพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

"อย่าเลย ท่านคฤหบดี เท่านี้ก็พอแล้ว อย่าเอาเงินมาเรียงที่ตรงนี้เลยจงเหลือที่นี่ไว้ให้เราบ้างเถิด เราจักขอร่วมบุญกุศลกับท่านในการนี้ด้วย"

คฤหบดีผู้มีศรัทธาใหญ่ เมื่อได้ฟังเจ้าของที่ราคาแพงว่าดังนั้น ก็พิจารณาอยู่หนึ่งเห็นว่า เจ้าเชตกุมารผู้นี้ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก มีคนนับหน้าถือตามาก จักทำให้คนทั้งหลายเกิดความเลื่อมใสในพระบรมพุทธศาสนาได้มาก ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะะให้คนทั้งหลายได้มีโอกาสดื่มรสอมตธรรมในวันหน้าได้อย่างหนึ่ง จึงตอบตกลงด้วยดี เจ้าเชตกุมาร ก็สั่งให้คนของตนสร้างซุ้มประตูลง ณ ที่ตรงนั้น

เมื่อการชำระเงินค่าที่ด้วยวิธีแปลกประหลาดผ่านพ้นไปแล้ว อนาถปิณฑิกเศรษฐีผู้ใจผ่องแผ้ว ก็เริ่มให้นายช่างจัดการสร้างวิหาร ศาลา โรงไฟ กัปปิยกุฎี วัจจกุฎี ที่จงกลม โรงจงกรม บ่อน้ำ ศาลาบ่อน้ำ สระโบกขรณี และปะรำ จนสำเร็จเป็นวิหารใหญ่ในสถานที่นั้น ซึ่งปรากฏนามเป็นที่รู้กันทั่วไปในภายหลังว่า "วัดพระเชตวันมหาวิหาร"

เมื่อได้จัดการตกแต่งประดับประดาพระเชตวันมหาวิหารสำเร็จเรียบร้อยลงทุนทุกประการแล้ว ท่านอนาถปิณฑิกะมหาเศรษฐีก็ส่งทูลไปทูลอาราธนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกรุงราชคฤห์ทันที เมื่อสมเด็จพระชินสีห์ทรงสดับคำทูลอาราธนาของทูลแล้ว ก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จมายังกรุงสาวัตถีตามเส้นทางที่ท่านเศรษฐีกำหนดไว้

จนกระทั่งมาถึงได้เสด็จเข้าสู่พระเชตวันมหาวิหาร ด้วยพระพุทธลีลาอันงามเลิศหาที่เปรียบมิได้ โดยที่พระสรีราพยพแห่งพระองค์นั้นไซร้ เปล่งปลั่งไปด้วยพระรัศมีหกประการแผ่ซ่านไปทั่วทิศานุทิศเป็นที่อัศจรรย์จิตแห่งเทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลาย

ครั้นเสด็จเข้าไปประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์เรียบร้อยแล้ว อนาถปิณฑิกะจึงหมอบลงแทบพระยุคลบาท แล้วทูลถามข้อปฏิบัติขึ้นว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระบาทจักปฏิบัติต่อวิหารนี้อย่างไร พระเจ้าข้า"

จึงมีพระพุทธฎีกาว่า  "ดูกรคฤหบดี ! ท่านจงถวายวิหารนี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมาจากจตุรทิศ"

คฤหบดีผู้จิตตกกระแสพระนิพพานเป็นพระโสดาบัน จึงทูลรับว่า "พระเจ้าข้า"

แล้วยื่นเมื่อจับเอาเต้าทองคำหลั่งน้ำลงไปที่พระหัตถ์แห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระบาทขอตั้งจิตถวายพระเชตวันมหาวิหารนี้อุทิศแก่พระสงฆ์ซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ มีองค์สมเด็จพระชินค์พระชินสีห์เจ้าเป็นประธาน ในกาลบัดนี้พระเจ้าข้า"

สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงรับพระวิหารแล้ว ก็ทรงอนุโมทนาด้วยวิหารทานคาถา

ตั้งแต่วันนั้นมา ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็จัดให้มีพิธีการงานฉลองพระมหาวิหารอยู่นานถึง ๙ เดือน นับเป็นการบริจาคทานอย่างมโหฬาร รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นทั้งค่าซื้อที่ ค่าก่อสร้าง และค่าฉลองเป็นจำนวนเงิน ๕๔ โกฏิ

ต่อจากนั้นก็ปรากฏกว่า ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีมีจิตศรัทธาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกเป็นอันมาก และสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระพุทธฏีกาตรัสว่า อนาถปิณฑิกะมหาเศรษฐีนี้ เป็นผู้เลิศกว่าทายกทั้งหลาย ในพระศาสนานี้

วันเดือนปีล่วงไป อายุแลยังก็ย่อมล่วงไปตามเป็นธรรมดา ท่านคนาถปิณฑิกเศรษฐีนั้น บัดนี้ เป็นคนชราและเจ็บไข้มานาน ใกล้มรณกาลเต็มที่ นอนอยู่บนมรณมัญจาอาสน์ เตียงเป็นที่ตาย แต่ยังมีกำลังพอที่จะเรียกคนใช้คนหนึ่งมาแล้วสั่งว่า

"พ่อมหาจำเริญ ! พ่อจงเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระคุณอันประเสริฐ ยังที่ประทับแล้ว จงถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าและกราบทูลพระองค์ว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ อนาถปิณฑิกคฤหบดีป่วยเป็นไข้หนัก ทนทุกขเวทนา ขอถวายบังคมมายังพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า

กราบทูลดังนี้แล้ว พ่ออย่าเพิ่งกลับจงแวะไปหาท่านพระสารีบุตรองค์ธรรมเสนาบดีที่ที่ท่านอยู่ แล้วกราบเท้าท่านและกราบเรียนถวายอย่างนี้ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ อนาถปิณฑิกคฤหบดีป่วยหนัก ทนทุกขเวทนาเป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญหากมีโอกาสเหมาะแล้ว ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์ นิมนต์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีเถิด เจ้าข้า  จำได้ไหมเล่า ที่เราบอกนี่น่ะ ถ้าจำได้แล้ว ก็จงรีบไปแต่เดี๋ยวนี้เถิดพ่อ"

บุรุษคนใช้นั้น รับคำท่านอนาถปิณฑกคฤหบดีแล้ว ก็ค่อยคลานออกมาและรีบเดินทางมุ่งหน้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร หลังจากที่เข้าไปกราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ธรรมราชาแล้ว ก็เข้าไปกราบเรียนท่านพระสารีบุตรผู้ธรรมเสนาบดี และกรุณาเรียนนิมนต์โดยดุษณีภาพ

พอบุรุษนั้นกราบลาไปแล้ว องค์ท่านธรรมเสนาบดี ก็นุ่งสบงทรงจีวร มีท่านพระอานนท์พุทธอนุชาเป็นปัจฉาสมณะ พากันเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งยังอาสนะที่เขาแต่งตั้งเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวถามขึ้นว่า

"ดูกรท่านคฤหบดี ! ท่านพอทนได้ พอเป็นไปได้อยู่หรือ ทุกขเวทนาทุเลาไม่กำเริบ ปรากฏความทุเลาลง ไม่ปรากฏความกำเริบละหรือ ๆ อย่างไร"

"กระผมเหลือทนแล้ว ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร " ท่านอนาถปิณฑิกะกล่าวค่อย ๆ ด้วยความเจ็บปวด พร้อมกับยกมือขึ้นมานมัสการด้วยความตื้นตันใจแล้วก็กล่าวต่อไปว่า

"ลมเหลือประมาณกระทบกระหม่อมของกระผมอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เอาของแหลมคมทิ่มที่กระหม่อมของกระผมอยู่ฉะนั้น

และอีกประการหนึ่งลมเหลือประมาณ เวียนศีรษะกระผมอยู่ เปรียบเหมือบุรุษมีกำลังให้คนขันศีรษะของกระผมด้วยชะเนาะแน่นหนาฉะนั้น

และอีกประการหนึ่ง ลมเหลือประมาณ ปั่นป่วนท้องของกระผม เปรียบเหมือนเพชฌฆาตฆ่าโคหรือลูกมือของเพชฌฆาตฆ่าโคผู้ฉลาด เอามีดแล่เนื้อโคอันคมขาวมาคว้านท้องของกระผมฉะนั้น

และอีกประการหนึ่ง  ความร้อนในกายของกระผม มีมากมายเหลือประมาณ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่อวัยวะ ป้องกันตัวต่าง ๆ แล้วจึงทำการนาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิงฉะนั้นเพราะเหตุดังนี้แหละ กระผมจึงจะทนไม่ไหวแล้ว ทุกขเวทนาของกระผมหนักมากนัก พระคุณเจ้าสารีบุตรผู้เจริญ"

องค์ธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้ชาญฉลาดในการแสดงพระธรรมเทศนาเห็นว่าท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแล้ว และในขณะวิกฤติการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ พระธรรมเทศนาที่เหมาะสมก็คือ การตั้งสติกำหนดอารมณ์มาประจวบเข้า

ฉะนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงแสดงธรรมโดยเริ่มต้นว่า "ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุ จักไม่มีแก่เรา" ดังนี้เป็นต้น

ขอท่านสาธุชนทั้งหลาย พึงทราบว่าพระธรรมเทศนาที่พระสารีบุตรแสดงแก่ท่านคฤหบดีในครั้งนี้ มีใจความพิสดารมากมาย แต่ไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ในที่นี่ทั้งหมดได้ ถ้าท่านผู้ใดสนใจ พึงค้นดูในอนาถปิณฑิโกวาทสูตรนั้นเถิด  

บัดนี้จะขอรวบรัดตัดความให้สั้นเข้าว่า เมื่อองค์พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีก็ร้องไห้ น้ำตาไหลอยู่ขณะนั้น สาวกสมเด็จพระบรมครูที่มาด้วยอีกผู้หนึ่งคือพระอานนท์เถระให้แปลกใจสงสัยจึงถามขึ้นว่า

"ดูกรคฤหบดี ! ท่านยังมีอาลัยใจจดใจจ่ออยู่หรือ"

อนาถปิณฑิกคฤหบดีผู้ป่วยหนัก จึงค่อยกราบเรียนว่า  "ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ! กระผมมิได้อาลัย มิได้มีใจจดใจจ่อ แต่ว่าตัวกระผมได้นั่งใกล้สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา และได้นั่งใกล้หมู่พระภิกษุสงฆ์ที่น่าเจริญใจมานานแล้ว ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาเช่นนี้เลย"

พระอานนท์ จึงชี้แจงว่า  "ธรรมีกถาเห็นปานนี้ มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิตนะคฤหบดี"

ครั้นพอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว พระพุทธชิโนรสทั้งสอง ก็กล่าวคำอำลาท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี กลับไปยังที่อยู่ของตน ณ เชตวันมหาวิหาร แต่พอท่านทั้งสอง ลากลับไปไม่นาน ท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีผู้ป่วยหนักก็ดับขันธ์ถึงแก่ชีพิตักษัย เป็นอันจบชีวิตแห่งท่านทานบดียิ่งใหญ่ในศาสนาแห่งพระสมณโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราท่านทั้งหลายเพียงเท่านี้

เมื่อดับขันธ์แล้วมาเกิดเป็นเทพบุตรสุดประเสริฐ ณ ปราสาทพิมานในแดนสวรรค์ชั้นดุสิต คือสรวงสวรรค์ชั้นที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ มีนามปรากฏว่า "อนาถปิณฑิกเทพบุตร"

แต่พอสิ้นใจตายจากมนุษยโลกและมาบังเกิดเป็นเทพดาได้ไม่นาน ด้วยดวงมานที่ผูกพันเคารพเลื่อมใสในองค์พระสัพพัญญูเจ้าอย่างลึกซึ้ง จึงในปฐมยามราตรีนั้นเอง อนาถปิณฑิกเทพบุตรก็ออกจากปราสาทพิมานบนสรวงสวรรค์ชั้นดุสิต มุ่งหน้ามายังมนุษยโลกเรานี้ แล้วเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายอภิวาทแล้ว กราบทูลว่า
 
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระเชตวันนี้มีประโยชน์
อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อันพระองค์ผู้เป็นธรรม
ราชาประทับอยู่ เป็นที่บังเกิดปีติแก่ข้าพระองค์
สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธ์ด้วยธรรม ๕ ประการ
นี้คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑
ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์
เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็น
ประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะ
บริสุทธิ์ในธรรมนั้นด้วยอาการนี้
พระสารีบุตรนั้นแล ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยปัญญา
ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริงผู้ถึงฝั่งแล้ว
จะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรนี้เท่านั้น"
 
อนาถปิณฑิกเทพบุตร กราบทูลดังนี้กะองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้ถวายอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วก็กลับไปสถิตเสวยสุขอยู่ ณ ปราสาทพิมานแห่งตนบนแดนสุขาวดีดุสิตสวรรค์

อีกวันหนึ่งต่อมา สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงว่า

"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! เมื่อคืนนี้ ล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทพบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงามรุ่งเรืองส่องพระเชตวันวิหาร ให้สว่างทั่วเข้ามาหาเราตถาคต ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวเนื้อความอย่างหนึ่งกะเรา"

ครั้นแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงเล่าถึงเนื้อความที่อนาถปิณฑิกเทพบุตรนั้นกราบทูลพระองค์เมื่อยามราตรี ให้ภิกษุเหล่านั้นฟังกันจนทั่ว เมื่อพระองค์ทรงเล่าจบแล้ว พระอานนท์เถระ ได้กราบทูลขึ้นว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็เทพบุตรนั้น คงจักเป็นอนาถปิณฑิกเทพบุตรแน่ เพราะอนาถปิณฑิกคฤหบดี ได้เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระสารีบุตรเป็นยิ่งนักพระเจ้าข้า"

"ถูกแล้ว อานนท์ เทพบุตรที่เรากล่าวถึงนี้ คืออนาถปิณฑิกเทพบุตรนั้นเองมิใช่อื่น" สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรับรองในที่สุด จึงเป็นอันว่า บัดนี้ อนาถปิณฑิกเทพบุตร ก็ยังคงเสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดุสิตแดนสุขาวดี ด้วยประการฉะนี้

สรุปความว่า สรวงสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ เป็นแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่แห่งทวยเทพทั้งหลาย อันมีสมเด็จท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิราชเป็นผู้ปกครองทวยเทพทุกผู้ ล้วนมีชีวิตความเป็น อยู่อย่างสำราญชื่นบาน ด้วยการเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาล เพราะความบันดาลแห่งบุญกุศลที่ตนได้เคยก่อสร้างไว้แต่ปางบรรพ์

ฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญาประกอบด้วยศรัทธาเชื่อมั่นในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อมีความปรารถนาใคร่จักได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นนี้ ก่อนที่จักขาดใจตาย ก็ควรขวนขวายรีบเร่งบำเพ็ญกองการกุศล ทำตนให้เป็นผู้ใคร่ในธรรม ด้วยการอุตส่าห์พยายามสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา และตั้งหน้าบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ มีให้ทานและรักษาศีลเป็นอาจิณ เมื่อถึงคราวสิ้นอายุถึงแก่ชีพิตักษัย หากกองการกุศลที่ตนก่อสร้างเอาไว้มีพลังเพียงพอ ก็จักเป็นแรงส่งผลักดัน ให้ได้มีโอกาสไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา ณ ดุสิตสวรรค์แดนแห่งความสุขอย่างแน่นอน
 
ผู้แสดงความคิดเห็น พระชาญวิทย์ ธมฺมวโร วันที่ตอบ 2010-01-27 09:46:39 IP : 58.147.55.136

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น