สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สวรรค์ชั้นที่ ๒
ตาวติงสเทวภูมิ

เทวภูมิอันดับที่ ๒ นี้ เป็นแดนแห่งความสุข ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพยดาชาวฟ้าผู้อุปบัติเทพ มีเทพผู้เป็นอธิบดีมเหศักดิ์รวม ๓๓ องค์ อันมี ท่านท้าวสักเทวาธิราชเป็นประธานาธิบดี เพราะฉะนั้น สรวงสวรรค์ชั้นนี้จึงมีนามว่าตาวติงสเทวภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพอันมีเทพสามสิบองค์ทรงเป็นอธิบดี

แดนสุขาวดีเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า อันมีนามว่า "ตาวติงสเทวภูมิ" หรือที่เรียกให้ฟังกันง่าย ๆ ในหมู่ชาวเราว่า "สวรรค์ชั้นดาวดึงส์"

สวรรค์ชั้นนี้ ตั้งอยู่เหนือจอมเขาสิเนรุราชบรรพต ปรากฏเป็นเทพนครใหญ่กว้างขวางนักหนา  ปรางค์ปราสาทล้วนแล้วไปด้วยแก้วอันเป็นทิพย์  แวดล้อมรอบพระนครด้วยปราการกำแพงแก้วทิพย์อีกเช่นกัน  เพราะความมโหฬารกว้างใหญ่ของเทพนครแห่งนี้ จึงปรากฏว่ามีประตูกำแพงแก้วถึง ๑,๐๐๐ ประตู และมีปราสาทยอดอันทรงรัศมีเลื่อมพรรณราย สวยสดงดงามอยู่เหนือประตูทุก ๆ ประตู

เมื่อประตูเหล่านั้นเปิดออกแต่ละครั้ง ย่อมปรากฏมีเสียงดังไพเราะเป็นยิ่งนัก  ก็ในท่ามกลางพระนครไตรตรึงษ์นั้น  มีปราสาทพิมานอันมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลืออยู่วิมานหนึ่ง นั่นคือ "ไพชยนตปราสาทพิมาน"

ก็ไพชยนตปราสาทพิมานนี้  มีรูปทรงสูงเยี่ยม เอี่ยมอ่องไปด้วยรัศมีสัตตรัตน์ เพราะประดับไปด้วยแก้ว ๗ ประการ อันมีความงามสุดจะพรรณนา ด้วยว่าเป็นปราสาทพิมานอันเป็นที่ประทับอยู่ แห่งองค์เทพผู้เป็นเทวาธิราช  ซึ่งมีนามปรากฏเป็นที่ทราบกันอยู่โดยมากว่า สมเด็จพระอมรินทราธิราช พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีมีมเหศักดิ์สูงสุด ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ได้เคยมีพระพุทธสาวกผู้ทรงฤทธิ์เข้าไปยังไพชยนตปราสาทพิมานนี้เหมือนกันดังเรื่องที่ปรากฏในจูฬตัณหาสังขยสูตร มีว่า


คราวหนึ่ง สมเด็จพระอมรินทราธิราช ได้เสด็จลงมาสดับพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มนุษย์โลกเรานี้ พอสดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ก็ทรงสำแดงพระอาการชื่นชมยินดีในภาษิตขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ทรงถวายอภิวาททำประทักษิณ รับอันตรธานเสด็จกลับไป

ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า องค์อัครสาวกเบื้องซ้ายผู้ทรงฤทธิ์ของสมเด็จพระพิชิตมารซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกล และเห็นพระอาการของท่านท้าวสักกะจอมเทพที่รีบเสด็จกลับเช่นนั้น ท่านจึงมีความดำริว่า

"ท้าวสักกะจอมเทพนั้น ทรงเข้าพระทัยเนื้อความพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระบรมครูเจ้าแล้ว จึงทรงสำแดงอาการชื่นชมยินดี หรือว่าทรงสำแดงอาการยินดีแต่สักว่า  โดยไม่ทรงเข้าพระทัยความหมายในพระธรรมเทศนานั้นเลย"

ครั้นดำริดังนี้แล้ว สาวกขององค์พระประทีปแก้ว ก็เหาะขึ้นไปด้วยอริยฤทธิ์ เพื่อจักพิสูจน์ความจริง ไปปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ปานประหนึ่งว่าบุรุษที่มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดเข้ามา ชั่วเวลาเพียงนี้เท่านั้น ครั้งท่านไปถึงแล้ว ก็เข้าไปหาท่านท้าวสักกะจอมเทพ

ในขณะนั้น ท่านท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กำลังทรงอิ่มเอิบพรั่งพร้อม มีพระทัยเบิกบานอยู่ด้วยความสุขเพราะเสียงทิพยดนตรี อันเหล่าเทพนารีรับบรรเลงบำเรออยู่หลายร้อย ในสวนดอกปุณฑริกล้วน

เมื่อท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้ซึ่งพระองค์ทรงเคารพเลื่อมใสมาแต่ไกล จึงทรงให้หยุดการบรรเลงทิพยดนตรีนั้นเสีย แล้วเสด็จออกต้อนรับพระเถรเจ้าตรัสปราศรัยขึ้นว่า

"ข้าแต่พระโมคคัลลานะผู้นฤทุกข์ ! นิมนต์มาเถิด พระผู้เป็นเจ้ามาก็ดีแล้ว นานแล้วที่พระผู้เป็นเจ้าปริยาย เพื่อจะมา ณ ที่นี่ นิมนต์นั่งเถิด อาสนะนี้แต่งตั้งไว้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า"

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า นั่งบนอาสนะตามพระดำรัสแห่งท่านท้าวสักเทวราชแล้ว จึงมีเถรวาทีไต่ถามว่า 

"ขอถวายพระบรมพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสถึงความน้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาแก่มหาบพิตร เมื่อสักครู่นี้ความว่าอย่างไร ขอโอกาสเถิด ตัวอาตมภาพใคร่จักขอมีส่วน  เพื่อจะรู้ธรรมีกถาที่มหาบพิตรได้สดับมานั้นบ้าง ท่านยังจะพอกล่าวให้อาตมภาพทราบได้บ้างหรือไม่"

ท่านท่าวสหัสนัยน์ ผู้จำธรรมีกถามิใคร่จะได้ จึงทรงสารภาพตามตรงว่า  "ข้าแต่ท่านโมคคัลลาน์ ! โยมนี้มีกิจมาก มีภารธุระที่จะต้องทำเป็นอันมากไหนจะธุระส่วนตัวของโยม ไหนจะธุระของพวกเทพยดาในดาวดึงส์นี้ ธรรมีกถาที่ได้ฟังแล้ว ก็มักจะหลงลืมเสียเร็วพลัน ก็ภาษิตธรรมีกถานั้น พระผู้เป็นเจ้าก็ฟังดีแล้ว เรียนดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว จะกลับมาถามโยมผู้มีสติปัญญาน้อยไปทำไมกัน

ข้าแต่ท่านโมคคัลลาน์ เรามาปราศรัยสนทนาถึงเรื่องอื่นกันดีกว่า คือว่า  เมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว ในสงครามคราวนั้นปรากฏว่า พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ครั้งเทวดาสุรสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว  โยมนี้กลับจากสงครามแล้ว ได้จัดการสร้างไพชยนตปราสาท ก็ไพชยนตปราสาทนั้นมี ๑๐๐ ชั้น ในชั้นหนึ่ง ๆ มีกูฎาคารคือเรือนยอด ๗๐๐ ในเรือนยอดแห่งหนึ่ง ๆ มีนางอัปสร ๗๐๐ นาง อัปสรผู้หนึ่ง ๆ มีเทพธิดาผู้บำเรอ ๗๐๐ ข้าแต่ท่านโมคคัลลาน์ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์ แห่งไพชยนตปราสาทของโยมหรือไม่เล่า โยมจักพาไป"

ท่านพระมหาโมคคัลลานะองค์อรหันต์ก็รับด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้นท่านท้าวสักเทวาธิราช พร้อมกับท่านท้าวเสสุวัณมหาราชผู้เป็นอาคันตุะมาแต่สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งนั่งอยู่ในที่นั่นด้วย ได้นิมนต์พระมหาโมคคัลลานะออกหน้าแล้ว พากันเข้ายังไพชยนตปราสาทพิมาน

เหล่าเทพธิดาผู้บำเรอแห่งท่านท้าวสักกะ เมื่อแลเห็นพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล  ก็มีความเกรงกลัวระคนความละอาย จึงพากันเข้าไปแอบอยู่ในห้องเล็กของตน ๆ ประดุจหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวเข้า ก็เกรงกลัวละอายอยู่ฉะนั้น

ขณะที่พาเที่ยวเดินชมไพชยนตปราสาทอยู่นั้น ท่านท้าวสักเทวราช ก็ตรัสบอกอยู่ด้วยความกระหยิ่มในพระทัยมิขาดระยะว่า

"ข้าแต่ท่านโมคคัลลาน์ผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงดูสถานที่รื่นรมย์แห่งไพชยนตปราสาทแม้นี้" ท่านพระมหาโมคคัลานะก็มีเถรวาทีรับสมอ้างว่า  "ท่านท้าวโกสีย์ไพชยนตปราสาทของท่าน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ย่อมงดงามเหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อน  แม้แต่ผู้ได้ชมทั้งหลาย เห็นสถานที่น่ารื่นรมย์ไหน ๆ เข้าแล้ว ก็กล่าวกันว่างามจริง ดุจสถานที่ของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์"

เมื่อเที่ยวเดินชมไพชนตปราสาทจนทั่ว โดยมีองค์สมเด็จพระอมรินทราธิราช เป็นผู้ชี้เชิญชมอธิบายความวิเศษแห่งปราสาทอยู่มิขาดปาก ด้วยความภาคภูมิใจเป็นนักหนา

คราทีนั้น องค์อรหันต์ท่านพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า จึงมีความดำริว่า  "ท่านท้าวสักกะผู้นี้ เป็นผู้มีความประมาทอยู่มากนัก ด้วยความรักใคร่พอใจในไพชยนตปราสาทอันเป็นสมบัติแห่งตน ถ้ากระไร ในบัดนี้ เราควรจะให้ท่านท้าวสักกะบังเกิดความสังเวชบ้างเถิด"

ครั้นดำริฉะนี้ สาวกสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ ก็บันดาลอิทธาภิสังขาร  เอาหัวแม่เท้ากดไพชยนตปราสาทเขย่าให้สะท้านหวั่นไหว  ในทันใดนั้นเป็นอัศจรรย์  ท่านท้าวสักกะจอมเทพเจ้าของปราสาทพิมาน และท่านท้าวเวสสุวัณมหาราช พร้อมกับมวลเทพยดาชาวดาวดึงส์ เมื่อเห็นไพชยนตปราสาทอันมั่นคงใหญ่โตบังเกิดความหวั่นไหว ด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเช่นนั้นก็พลันเกิดความประหลาดมหัศจรรย์จิต กล่าวแก่กันว่า

"นี่เป็นความประหลาดมหัศจรรย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพียงเอาหัวเท้ากดเท่านั้น ปราสาททิพยพิมาน ก็สั่นสะท้านหวั่นไหวได้ โอ ไพชยนตปราสาท ตกอยู่ในความแปรปรวน ไม่วิเศษเที่ยงแท้ยั่งยืนหนอ"

ครั้นเห็นสมเด็จท้าวโกสีย์ มีความสลดจิตขนลุก เกิดความสังเวชสมเจตนาแล้ว องค์อรหันต์ผู้วิเศษก็เริ่มกล่าวธรรมีกถากับพระองค์อยู่ชั่วครู่ แล้วก็ถวายพระพรอำลากลับมายังมนุษย์โลกเรานี้ตามเดิม

เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะกลับมาแล้ว เหล่าเทพธิดาผู้เป็นบริวารของท่านท้าวสักกะในไพชยนตปราสาทนั้นได้ทูลถามพระองค์ขึ้นว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ! พระสมณะนั้น เป็นองค์พระโลกุตมาจารย์ ผู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงเคารพบูชาใช่หรือไม่"

"มิใช่" ท้าวสหัสนัยน์ตรัสตอบ "พระสมณะรูปนั้น มิใช่สมเด็จพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระบรมศาสดาของเรา แต่ท่านมีนามว่าพระมหาโมคัลลานะองค์อรหันต์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น  ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสเป็นอย่างมากแห่งเราเหมือนกัน"

เทพธิดาเหล่านั้น จึงพากันกล่าวสรรเสริญว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ! เป็นลาภของพระองค์นักที่ได้เคารพบูชาพระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ และสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี คงจักทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์กว่านี้เป็นแน่"

กล่าวสรรเสริญดังนี้แล้ว ก็มีใจผ่องแผ้วระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยแล้วก็พากันไปเที่ยวเล่นสนุกในสวนสวรรค์พอควรแก่การแล้ว ก็กลับมาเสวยสุขอยู่ ณ ไพชยนตปราสาทนั้นอย่างแสนจะสำราญเป็นนักหนา


 
สวนสวรรค์

เมื่อจะกล่าวถึงทิพยสมบัติ อันปรากฏมี ณ แดนสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์นี้นอกจากไพชยนตปราสาทพิมานดังพรรณนามาแล้ว ก็ยังมีทิพยสมบัติอันประเสริฐอีกมากมายหลากหลายนัก ทั้งนี้ก็เพราะว่าสรวงสวรรค์ชั้นนี้ เป็นที่สถิตอยู่แห่งเทพบุตรเทพธิดาผู้มีบุญญาธิการเป็นจำนวนมาก ทั้งท่านท้าวสักกะจอมเทพผู้เป็นประธานาธิบดีแห่งเหล่าเทพยดาทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงไว้ซึ่งบุญสิริมีบุญญานุภาพมากมาย ทรงมีกมลหฤทัยฝักใฝ่ในการอันเป็นบุญกุศลอยู่เนืองนิตย์ ทรงขวนขวายในกิจอันเป็นอัตหิตประโยชน์และปรหิตประโยชน์อยู่เสมอ

ในเมื่อเทพยเจ้าทั้งปวง ต่างก็มีบุญญาธิการเป็นอันมากเช่นนี้ แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จึงเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์ รู้กันว่าเป็นแดนที่อยู่อันแสนจะสนุกเป็นสุขสำราญ เป็นสถานที่อันรื่นรมย์น่าชมน่าเที่ยวน่าทอดทัศนา

ฉะนั้น จึงปรากฏว่า โยคีฤาษีสิทธิทั้งหลายผู้ได้ฌานอภิญญาก็ดี หรือแม้แต่พระอริยเจ้าในพระบวรพุทธศาสนาผู้ได้บรรลุอภิญญาประกอบด้วยอริยฤทธิ์ก็ดี  ย่อมถือโอกาสมาเที่ยวชมแดนสรวงสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์นี้อยู่เสมอ ๆ  

บรรดาทิพยสมบัติอันมีปรากฏอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไปก็คือ สวนสวรรค์อุทยานทิพย์ ในสวรรค์ชั้นนี้ มีอุทยานทิพย์อยู่มากมาย เมื่อจะนับแต่อุทยานใหญ่ ๆ มีชื่อเสียง ก็มีอยู่ ๔ อุทยานคือ
๑. นันทวันอุทยานทิพย์ ตั้งอยู่ในด้านทิศตะวันออก แห่งดาวดึงส์แดนสวรรค์
๒. จิตรลดาวันอุทยานทิพย์ ตั้งอยู่ในด้านทิศตะวันตก แห่งดาวดึงส์แดนสวรรค์
๓. สักวันอุทยานทิพย์ ตั้งอยู่ในด้านทิศเหนือ แห่งดาวดึงส์แดนสวรรค์
๔. ปารุสกวันอุทยานทิพย์ ตั้งอยู่ในด้านทิศใต้ แห่งดาวดึงส์แดนสวรรค์

สวนขวัญอุทยานทิพย์เหล่านี้ เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ สวยสดงดงามน่าสนุกสนาน จะหาที่เปรียบปานในมนุษย์โลกเรานี้มิได้เลย เพราะเป็นอุทยานทิพย์ในสรวงสวรรค์ เต็มไปด้วยสรรพรุกขชาตินานาพรรณ

นอกจากนั้นก็มีสระโบกขรณีอันเป็นทิพย์ มีน้ำใสดังแผ่นแก้วและดูรุ่งเรืองน่ารื่นรมย์ และมีปาสาณศิลาคือก้อนหินศิลาล้วนแต่เป็นทิพย์ มีรัศมีสวยรุ่งเรืองเลื่อมประภัสสรมีแท่นที่นั่งเล่นอันอ่อนนุ่ม มีสีขาวสะอาดดุจดังใครมาแสร้งวาดไว้ให้พิจิตรสวยงาม ฝูงเทพบุตรเทพธิดาผู้มีความสุขทั้งหลาย ย่อมพากันมาเล่นสนุกเป็นที่สุขใจเริงสราญ ในสวนสวรรค์อุทยานทิพย์เหล่านี้เป็นเนืองนิตย์มิได้ขาดเลย


 
พระเกศจุฬามณีเจดีย์

ณ เบื้องสวรรค์เมืองฟ้าชั้นดาวดึงส์นี้ มีสถานที่สำคัญที่สุดอยู่แห่งหนึ่ง สถานที่ที่ว่านี้ก็คือ "พระจุฬามณีเจดีย์" ก็อันว่าพระจุฬามณีเจดีย์เจ้านี้ เป็นเจดีย์ที่ทรงสัณฐานใหญ่ ทรงไว้ซึ่งความประเสริฐวิเศษเป็นมโหราฬิกและศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ในทิศอาคเนย์ คือทิศตะวันออกเฉียงใต้ แห่งไตรตรึงษ์เทพนคร

องค์พระเจดีย์เจ้านั้นแลดูสวยสดงดงามมีรัศมีรุ่งเรืองนักหนา เพราะว่าสร้างด้วยแก้วอินทนิลอันเป็นทิพย์ ตั้งแต่กลางถึงยอดพระเจดีย์เจ้านั้นทำด้วยสุวรรณทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และประดับไปด้วยสัตตพิธรัตนะคือแก้ว ๗ ประการ ส่วนสูงทั้งหมดเมื่อกำหนดนับได้ ๘๐,๐๐๐ วา มีปราการกำแพงทองคำเนื้อแท้ล้อมรอบทุกด้านเป็นจตุรทิศ กำแพงแต่ละทิศนั้น มีความยาวนับได้ ๑๖๐,๐๐๐ วา มีธงประดับนานาชนิดมีสีสันแตกต่างกัน บ้างเหลือง บ้างแดง บ้างขาว บ้างเขียว แลดูงดงามสลับสลอนพรรณรายนักหนา

ฝูงเทพยดาทั้งหลาย บางพวกบางหมู่ถึงเครื่องดีดสีตีเป่าสังคีตสรรพดุริยางค์ต่าง ๆ มาบรรเลงถวายบูชาพระเจดีย์เจ้านั้นทุกวันมิได้ขาด  ด้วยว่า พระเกศจุฬามณีเจดีย์ อันสถิตประดิษฐานอยู่ ณ เบื้องสรวงสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ เป็นที่บรรจุสิ่งสำคัญอันหาค่ามิได้ไว้ถึง ๒ อย่างด้วยกันคือ

๑. พระเกศโมลีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีประวัติความเป็นมาว่า กาลเมื่อพระพุทธองค์เจ้า เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ คือออกบรรพชา ครั้งนั้น พระองค์ทรงตัดมวยพระโมลีแล้ว ทรงอธิษฐานว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้มวยพระเกศโมลีจงลอยขึ้นไปบนนภากาศเถิด อย่าได้ตกลงมาสู่พื้นปฐพีเลย"

คราทีนั้น สมเด็จพระอมรินทราราช จึงทรงนำผอบทองคำมารองรับพระเกศโมลีนั้น แล้วทรงนำขึ้นมาบนดาวดึงส์สวรรค์ สร้างพระเจดีย์นี้สำหรับบรรจุพระโมลีนั้น

๒. พระบรมธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องขวาแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีประวัติความเป็นมาว่า เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งองค์สมเด็จพระสุคตเจ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ท่านโทณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แบ่งพระธาตุเปิดรางทองคำออกนั้น เหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย บรรดาที่จะได้รับส่วนแบ่ง ได้พร้อมกันมาประทับยืนอยู่ใกล้ 

ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมธาตุอันมีสีเหมือนทองคำ ต่างองค์ต่างก็ร่ำไห้รำพันอาลัยรักในสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคสัพพัญญูเจ้า ! เมื่อกาลก่อน ข้าพระบาททั้งหลายได้เคยยลพระสรีระแห่งพระองค์ อันทรงไว้ซึ่งพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีพระฉัพพรรณรังสีรุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ แต่มากาลบัดนี้ ควรฤามามีเพียงพระธาตุต่างพระพักตร์ ไม่สมควรแก่พระองค์เลย"

ฝ่ายโทณพราหณ์ผู้ทำหน้าที่ใหญ่ ครั้นเห็นกษัตริย์เหล่านั้น พิลาพร่ำถึงพระบรมครูอยู่ดังนั้น ก็พลันฉุกคิด จึงแยกพระเขี้ยวไว้เสียต่างหากจากพระบรมสารีริกธาตุส่วนอื่นแล้วเก็บไว้ในผ้าโพกศรีษะแห่งตน แล้วสาละวนในการจัดแบ่งพระบรมธาตุออกเป็น ๘ ส่วน เพื่อถวายกษัตริย์เหล่านั้นต่อไป

กล่าวฝ่ายสมเด็จพระอมรินทราธิราชจอมเทพผู้มีความเลื่อมใสในพระสัพพัญญูเจ้าอย่างลึกซึ้ง ได้เสด็จมาสังเกตการณ์อยู่ด้วยพระทัยประสงค์จะได้พระบรมธาตุเหมือนกัน ครั้นทรงเห็นพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาอันประเสริฐเช่นนั้น เจ้าสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ก็อัญเชิญพระบรมธาตุจากผ้าโพกศีรษะของพราหมณ์เฒ่านั้น ลงสู่ผอบทองคำทิพย์อีกทอดหนึ่ง ด้วยกิริยาอันเลื่อมใสยิ่ง แล้วรีบเสด็จเอามาประดิษฐานบรรจุไว้ ณ พระเกศจุฬามณีเจดีย์นี้

เมื่อพระเกศจุฬามณีเจดีย์ บรรจุซึ่งสิ่งสำคัญอันหาค่ามิได้ไว้ถึง ๒ อย่างดังนี้ ฉะนั้น จึงปรากฏว่าเหล่าเทพยดาทั้งหลาย ต่างก็มีความเลื่อมใสเคารพบูชาในองค์พระมหาเจดีย์เจ้านี้เป็นยิ่งนัก สำหรับองค์ท้าวสักกะจอมเทพนั้น แทบจะมิต้องกล่าวถึงก็ได้ว่าพระองค์ทรงมีประปสาทเลื่อมใสเพียงใด ทุกวารวัน พระองค์พร้อมด้วยเทพบริวารทั้งหลาย มีพระหัตถ์ถือดอกไม้ธูปเทียนของทิพย์สุคนธชาติไปถวายบูชาพระเจดีย์เจ้าแล้ว ทรงกระทำประทักษิณเวียนรอบเสมอเป็นนิตยกาล  

นอกจากนั้นแล้ว เทพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นอื่น ๆ เช่นท่านท้าวจาตุมหาราชแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิและเหล่าเทพยดาในสวรรค์ชั้นสูงคือชั้นยามา ชั้นดุสิตสวรรค์ เช่นพระศรีอารยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์เป็นต้น ต่างก็พากันมานมัสการบูชาพระเจดีย์เจ้านี้เสมอมิได้ขาด


 
ปาริชาติ

นอกเหนือไตรตรึงษ์เทพนคร ออกไปทางทิศอีสานคือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานทิพย์อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีนามปรากฏว่า ชื่อว่า "ปาริชากัลปพฤกษ์" และใต้ต้นไม้ทิพย์นั้น มีแท่นศิลาแก้วอันหนึ่ง ซึ่งปรากฏปุณฑริกวัน เป็นสวนขวัญอุทยานทิพย์มีบริเวณกว้างใหญ่ยิ่งนัก มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน กลางสวนนั้นมีไม้ทองหลางใหญ่อันเป็นทิพย์อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นไม้ทิพย์อันปรากฏมีชื่อเสียงเลื่องลือโดยนามว่า "บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์" เป็นแท่นทิพย์มีสีแดงดังดอกชบา และมีลักษณะอ่อนนุ่มดังผ้าฟูกหรือหงอนแห่งพญาราชหงส์ทอง

เมื่อสมเด็จพระอมรินทราธิราชประทับนั่งพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่เหนือแท่นศิลานี้แล้ว แท่นศิลาอันเป็นทิพย์ประเสริฐนี้ ก็จะมีลักษณะการอ่อนยุบลงไป และเมื่อพระองค์เสด็จลุกขั้น แท่นศิลานี้ก็จะฟูขึ้นเต็มตามเดิม เป็นแท่นศิลาที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์เพราะยุบลงได้และฟูขึ้นได้เองโดยธรรมชาติอย่างนี้ตลอดกาล

ส่วนไม้ปาริชาตินั้น ต่อกาลนับได้ ๑๐๐ ปี จึงมีดอกบานครั้งหนึ่ง และเมื่อถึงคราวดอกไม้สวรรค์นี้จะบาน ฝูงเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ต่างก็พากันรื่นเริงยินดีเป็นนักหนา ย่อมผลัดเปลี่ยนเวรเวียนกันอยู่เฝ้า จนกว่าดอกไม้นั้นจะบาน

ครั้นดอกไม้สวรรค์นั้นบานแล้ว ย่อมปรากฏมีแสงอันรุ่งเรืองงดงามนักหนารัศมีแห่งดอกปาริชาตนั้น ย่อมเรือง ๆ ไปไกลได้หลายหมื่น เมื่อลมรำเพยพัดพาไปทางทิศใด ย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทางทิศนั้น เป็นระยะไกลสุดไกล เพราะมิใช่ดอกไม้ดอกเดียว โดยที่แท้เป็นดอกไม้หลายหลากนักหนา บานสะพรั่งตลอดหมดทั้งต้นทุกกิ่งทุกก้าน  ฝูงเทพยดาทั้งหลายเมื่อต้องการดอกไม้นั้น  ก็มิพักต้องขึ้นไปสอยไปเก็บให้เหนื่อยยาก หากแต่เพียงแต่เข้าไปใต้ต้น ดอกปาริชาตนั้น ก็จะหล่นตกลงมาถึงมือเอง ประดุจดังจะรู้จิตใจของเขา

ถ้าเขายังทันได้รับก่อนแล้วไซร้ดอกไม้สวรรค์ก็หาพลันตกลงถึงพื้นไม่ เพราะมีลมชนิดหนึ่ง พัดชูดอกไม้นั้นเข้าไว้บนอากาศมิให้ตกถึงพื้น จนกว่าเทพยดาผู้ต้องประสงค์นั้นจะรับเอา เพื่อความเข้าใจดีในเรื่องนี้ พึงทราบจากพระพุทธฎีกา อันมีปรากฏในปาริฉัตตกสูตร ดังต่อไปนี้ว่า

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! สมัยใด ปาริชาตกัลปพฤกษ์แห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง สมัยนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างพากันดีใจว่า "เวลานี้ต้นปาริชาตกัลปพฤกษ์มีใบเหลืองแล้ว อีกไม่นานเท่าไร ก็จักผลัดใบใหม่"

สมัยใด ปาริชาตกัลปพฤกษ์แห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบใหม่ สมัยนั้นเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็พากันดีใจว่า "เวลานี้ต้นปาริชาตกัลปพฤกษ์กำลังผลัดใบใหม่แล้ว อีกไม่นานเท่าไร ก็จักผลิดอกออกใบ"

สมัยใด ปาริชาตกัลปพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอกออกใบแล้ว สมัยนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็พากันดีใจว่า "เวลานี้ ต้นปาริชาตผลิดอกออกใบแล้ว อีกไม่นานเท่าไร ก็จักเป็นดอกเป็นใบ"

สมัยใดปาริชาตกัลปพฤกษ์ของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกเป็นใบแล้ว สมัยนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็พากันดีใจว่า "เวลานี้ ปาริชาตกัลปพฤกษ์เป็นดอกเป็นใบแล้ว อีกไม่นานเท่าไร ก็จักเป็นดอกตูม"

สมัยใด ปาริชาตกัลปพฤกษ์ของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกตูมแล้ว สมัยนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ต่างก็พากันดีใจว่า "เวลานี้ปาริชาตกัลปพฤกษ์ออกดอกตูมแล้ว อีกไม่นานเท่าไร ก็จักเริ่มแย้ม"

สมัยใด ปาริชาตกัลปพฤกษ์ของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์เริ่มแย้มแล้ว สมัยนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ต่างก็พากันดีใจว่า "ปาริชาตกัลปพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว อีกไม่นานเท่าไร ก็จักบานเต็มที่"

สมัยใด ปาริชาตกัลปพฤกษ์ของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์บานเต็มที่แล้ว สมัยนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ต่างพากันดีใจเป็นนักหนา เอิบอิ่มพรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณทั้ง ๕ บำรุงบำเรออยู่ตลอดระยะเวลา ๔ เดือนทิพย์ ณ ควงไม้ปาริชาตกัลปพฤกษ์ ก็เมื่อดอกปาริชาตกัลปพฤกษ์บานที่นั้น จะแผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ในบริเวณรอบ ๆ จะส่งกลิ่นไปตามลมได้ ๑๐๐ โยชน์ อานุภาพแห่งปาริชาตกัลปพฤกษ์ มีดังนี้


 
สุธรรมาเทวสภา

ณ ที่ไม่ไกลจากปาริชาตต้นไม้สวรรค์เท่าใดนัก มีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ซึ่งปรากฏนามว่า "สุธรรมาเทวสภา" เป็นศาลาทิพย์อันงามตระหว่านประเสริฐนักมีปริมณฑลกว้างขวางใหญ่โต พื้นศาลานั้นแล้วไปด้วยแก้วผลึก ประดับไปด้วยสัตตพิธรัตนะแก้ว ๗ ประการ คือสุวรรณปราการกำแพงทองล้อมรอบ

และ ณ ที่ใกล้กำแพงนั้น มีดอกไม้สวรรค์วิเศษอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏนามว่า "อสาพติ" ดอกไม้ชนิดนี้ กว่าจะบานก็เป็นเวลานานนัก ครบถ้วนเวลา ๑,๐๐๐ ปี จึงจะบานสักครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาดอกไม้นี้บานแล้วย่อมจะส่งกลิ่นอบอวล หอมหวนนักหนา ฝูงเทพยดาทั้งหลาย เขาย่อมเปลี่ยนเวรกันอยู่เฝ้า ด้วยว่าเทวดาทั้งปวงนั้น เขามีจิตผูกพันรักดอกไม้เป็นยิ่งนัก

ภายในศาลาสุธรรมา ซึ่งเป็นที่ประชุมฟังธรรมของเหล่าเทพยดาผู้สัมมาทิฐิทั้งหลายนั้น มีธรรมาสน์แก้วสวยงามวิจิตรงดงามตระการตานัก มีความกว้างใหญ่หลายวา เป็นธรรมาสน์ประจำตั้งอยู่ที่ศาลานั้น นอกจากนี้ ก็มีเทวราชอาสน์อันเป็นทิพย์ ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งสดับธรรมของสมเด็จพระอมรินทร์จอมเทพ  ต่อจากนั้น ก็มีเทวอาสน์ที่นั่งของเทพเจ้าผู้เป็นพระสหายของพระองค์ ต่อจากนั้นก็เป็นอาสนะที่นั่งแห่งปวงเทพเจ้าทั้งหลาย ลดหลั่นกันลงไปตามฐานานุศักดิ์

เมื่อจักพรรณนาถึงความรื่นรมย์แล้ว ภายในสุธรรมาเทวสภานี้ ย่อมมีความรื่นรมย์หาที่ใดจักเปรียบปานมิได้ อบอวลหอมหวนไปด้วยกลิ่นดอกไม้สวรรค์นานาชนิดอยู่ตลอดกาล ได้ทราบว่า สถานที่นี่ เป็นที่น่ารื่นรมย์ชวนชมกว่าแห่งอื่นในสรวงสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ผู้ที่มีฤทธิ์วิเศษมีโอกาสไปถึงและได้เห็นมาแล้ว เมื่อมาพบเห็นที่ใดที่หนึ่งอันน่ารื่นรมย์ในมนุษย์โลกเรานี้ มักจะอุทานวาทีเปรียบเปรยว่า "รื่นรมย์เหมือนสุธรรมาเทวสภา" ด้วยประการฉะนี้


 
ทางไปดาวดึงส์สวรรค์

เมื่อได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ แห่งทวยเทพเหล่าชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ดังกล่าวมาแล้ว ต่อไปนี้ เราก็ควรจะทราบถึงกรณีสำคัญ คือปัญหาที่ว่า

"การที่จะได้มีโอกาสไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา เสวยทิพย์สมบัติเป็นสุขอยู่ ณ แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น จักต้องทำประการใดบ้าง"
"สร้างเสบียง" นี่คือคำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ โดยมีอรรถาธิบายว่า

"ต้องสร้างเสบียง กล่าวคือบุญกุศล ต้องพยายามทำตนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ห้ามตนไม่ให้ทำกรรมหยาบช้าลามก ความสกปรกแห่งกายวาจาใจอย่าให้บังเกิดมีจงอุตสาหะก้มหน้ากระทำแต่กัลยาณกรรมความดี"


 
 
ทานสูตร


ดูกรสารีบุตร ! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า 
"ตายไปแล้ว เราจักได้เสวยผลทานนี้"  แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า "การให้ทาน เป็นการกระทำที่ดี"

เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยาตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเหล่าเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์สวรรค์


 
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา เมื่อถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ในชั้นนั้นได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ
๑. อายุทิพย์
๒. วรรณทิพย์
๓. สุขทิพย์
๔. ยศทิพย์
๕. อธิปไตยทิพย์
๖. รูปทิพย์
๗. เสียงทิพย์
๘. กลิ่นทิพย์
๙. รสทิพย์
๑๐. โผฏฐัพพทิพย์


 
สังคีติสูตร

เหตุที่ยกนำให้ไปอุบัติเกิด ณ จาตุมหาราชิกาสวรรค์ นอกจากที่พรรณนามาแล้วยังมีข้อความอีกประการหนึ่ง อันมีปรากฏในสังคีติสูตร ซึ่งเป็นข้อความที่พวกเราชาวพุทธบริษัท ผู้มีโอกาสดีได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ ควรจักรับทราบไว้โดยตระหนักดังต่อไปนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และสิ่งที่เป็นอุปกรณ์แก่ประทีป เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไปและเขาได้ยินมาว่า "พวกเทพเจ้าเหล่าจาตุมหาราชิกามีอายุยืน มีวรรณะงาม มากไปด้วยความสุข" ดังนี้แล้ว เขาจึงรำพึงอย่างนี้ว่า


 
โอหนอ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึง
เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพเจ้าเหล่าจาตุมหาราชิกา

เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ จิตของเขานั้นน้อมไปในสิ่งที่ต่ำมิได้รับอบรมเพื่อคุณเบื้องสูง ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับบุคคลผู้มีทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลายความตั้งใจของบุคคลผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้ เพราะเป็นของบริสุทธิ์
แลเห็นและเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว การที่จักได้มีโอกาสไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา ณ แดนสุขาวดีดาวดึงส์สวรรค์นี้ จักต้องมีปฏิปทาเดินไปตามวิถีทางใด ในโอกาสนี้ ใคร่จักเสนอชีวประวัติแห่งมนุษย์ ผู้ตายไปผุดเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ ให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้ฟังไว้เพื่อเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้


 
 
จูฬรถเทพบุตร


ดังได้สดับมา  ครั้งศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในคลองแห่งศีล เห็นภัยในวัฏสงสาร สู้อุตสาหะก้มหน้าบำเพ็ญสมณธรรมตามกำลังศรัทธา แต่เป็นที่น่าสงสาร เพราะท่านยังมิได้มีโอกาสได้บรรลุพระอริยมรรคอริยผล ยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ถึงแก่มรณะตายไปตามธรรมดาแห่งสังขาร

ด้วยอำนาจแห่งการรักษาศีลบริสุทธิ์ จึงไปผุดเกิดเป็นเทพบุตรสุดโสภา ณ แดนสุขาวดีดาวดึงส์สวรรค์ ได้รับความสุขหรรษาตามเทพวิสัยเป็นอันมาก เสวยทิพย์สมบัติเป็นสุขอยู่จนตราบเท่าสิ้นอายุ จึงจุติขึ้นไปอุบัติเกิดในเทวโลกชั้นสูงอื่น ๆ อีก แต่เทพบุตรนั้น ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ ในสุคติภูมิเทวโลกสวรรค์เป็นเวลาช้านาน

ครั้งถึงกาลที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสมณโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ประกาศพระบวรพุทธศาสนายังประชาสัตว์ให้ได้ดื่มอมตธรรมเป็นอันมากแล้ว เทพบุตรผู้นี้จึงจุติมาปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสี ของสมเด็จพระอัสสกะราชาธิบดี ในกโปตกะนคร ครั้นประสูติจากพระครรภ์แห่งพระมารดาแล้ว พระญาติทั้งหลายได้ถวายพระนามว่า เจ้าชายสุชาตราชกุมาร

เมื่อเจ้าชายสุชาตราชกุมาร จำเริญวัยวัฒนาการแล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีบริวารมาก เป็นที่รักแห่งพระชนกพระชนนี แล้วต่อมาก็เกิดมีอันเป็น ด้วยเหตุว่าสมเด็จพระชนนีถึงแก่ทิวงคตลง สมเด็จพระราชบิดา จึงทรงตั้งนางราชกัญญาผู้หนึ่ง ซึ่งมีรูปทรงโสภาไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี

ต่อกาลไม่นานนัก พระอัครมเหสีใหม่นั้นก็ประสูติพระราชกุมารองค์หนึ่ง สมเด็จพระบรมกษัตริย์ แต่พอได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชกุมารซึ่งประสูติใหม่ ก็ทรงมีพระราชหฤทัยชื่นชมยินดีเป็นยิ่งนัก จึงพระราชทานพระพรแก่พระอัครมเหสีว่า
"ดูกรเจ้าผู้จำเริญ ! เจ้าจะปรารถนาสิ่งใด ก็จงขอสิ่งนั้นแก่เราเถิด เรายินดีจักให้เจ้าทุกสิ่งทุกประการ"
พระอัครมเหสีสาว รับเอาซึ่งพระพรแล้ว ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ! พรที่พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่ข้าพระบาทนั้น ข้าพระบาทปรารถนาเมื่อใด จักขอรับพระราชทานเอาเมื่อนั้น"

จำเนียรกาลนานมา เมื่อเจ้าชายสุชาตราชกุมาร มีพระชันษาได้ ๑๖ ปี กำลังรุ่นดรุณวัย พระอัครมเหสีใหม่ จึงกราบทูลสมเด็จพระราชาธิบดีว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นนฤบดี ! บัดนี้ข้าพระบาท จักขอรับเอาพระพรที่พระองค์ทรงกรุณาพระราชทานให้ในวันนั้น"
"เจ้าต้องการอะไร บอกมาเถิด เราจักให้" สมเด็จพระนฤบดีตรัสถามขึ้น
"ขอพระองค์จงทรงยกราชสมบัติให้แก่โอรสของข้าพระบาทเถิด" นางกราบทูล

"เอาอะไรมาพูด นางคนร้าย" พระราชาตรัสด้วยพระสุรเสียงอันดัง ด้วยความไม่พอพระทัย "ในเมื่อเจ้าชายสุชาตกุมารอันเป็นโอรสองค์ใหญ่ของเรา ซึ่งทรงคุณวิเศษประดุจเทพกุมาร ยังปรากฏอยู่ เหตุไฉนเจ้าจึงมาว่าดังนี้" ตรัสด้วยพระอารมณ์ไม่ดีเช่นนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไป

กาลต่อมา พระมเหสีสาวนั้น ก็กราบทูลขออยู่อย่างนั้นเนือง ๆ โดยมารู้แจ้งชัดว่าพระมหากษัตริย์แก่ชรา ทรงมีความรักใคร่หลงใหลในตนเป็นนักหนาจึงวอนว่าโดยที่มิใคร่จะเกรงพระทัยนัก ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ได้ง่าย ๆ สมดังเจตนา อยู่มาวันหนึ่ง พระอัครมเหสีสาวโสภานั้น จึงกราบทูลขึ้นอีกว่า

"ข้าแต่พระองค์ ! ถึงแม้ว่าพระสุชาตกุมารยังดำรงอยู่ก็จะเป็นไรไป ขอพระองค์จงทรงพระกรุณายกราชสมบัติ ให้แก่โอรสของข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า เพราะพระองค์ได้พระราชทานพรให้แก่ข้าพระบาทแล้ว"

สมเด็จพระนฤบดีอัสสกราชได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ให้ทรงอัดอั้นเดือดร้อน กินแหนงในพระทัยว่า  "อาตมานี้เป็นคนใจเร็ว มิทันได้พิจารณาให้ดี มาพลั้งปากให้พรแก่นางคนนี้ ครั้งจะคืนคำก็ให้ละอายแก่ใจนัก"  ทรงอึกอักอัดอั้นตันพระทัยอยู่

ในที่สุด ก็ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้พระสุชาตกุมารโอรสรักเข้ามาเฝ้าในที่รโหฐานแต่ลำพังแล้ว ตรัสเล่าเหตุทั้งปวงนั้นให้ฟังทั้งหมดแล้ว พระองค์ก็ทรงพระกันแสง น้ำพระเนตรไหลออกจากพระนัยนาซ้ายขวา ฝ่ายว่าสมเด็จพระราชุมาร เมื่อเห็นองค์ปิตุเรศทรงโศกสลดโทมนัส ก็มิอาจที่จะกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ก็ทรงพระกันแสงพลางทูลว่า

"ขอพระบิดา จงทรงอนุญาตให้ลูกนี้ไปในที่อื่นเถิด"

"บิดานี้จะสร้างเมืองใหม่ให้แก่เจ้า" สมเด็จพระราชาธิบดีตรัสพร้อมกับทรงจ้องมองพระโอรสรักด้วยน้ำพระเนตรคลอหน่วย

"ลูกมิปรารถนาจะรบกวนพระบิดาถึงเพียงนั้น ขอแต่ทรงอนุญาตให้ลูกไปตามยถากรรมก็แล้วกัน พระเจ้าข้า" ราชบุตรทูลปฏิเสธ

"ถ้าเช่นนั้น บิดาจะให้เจ้าไปอยู่ในสำนักท้าวพระยาทั้งหลาย อันเป็นสหายแห่งบิดาก็ได้ จะเอาไหม ลูกรัก"

"อันที่อื่นทั้งปวงนั้น ลูกมิพึงปรารถนา ลูกนี้ จักขอเจ้าไปอยู่ในอรัญราวป่าและจะขออำลาพระบิดาไปแต่บัดนี้"

สมเด็จพระนฤบดี ได้ทรงสดับถ้วยคำปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น ก็ยิ่งทรงมีกมลสงสาร ทรงสวมกอดเอาพระราชโอรสจุมพิตกระหม่อมแล้ว จึงมีพระราชดำรัสสั่งด้วยพระสุรเสียงอันสะอื้นว่า "ถ้าบิดาหาชีวิตไม่แล้ว เจ้าจงกลับมาเอาสมบัติของบิดาในพระนครนี้เถิด" ทรงสั่งเสียพระราชโอรสรักดังนี้แล้วก็ส่งไป

ฝ่ายเจ้าชายสุชาตราชกุมาร พอเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง อันเคยอยู่เป็นสุขทุกทุกคืนวัน ก็บายพระพักตร์เข้าไปสู่อรัญป่าใหญ่ อาศัยอยู่กับพรานไพรผู้หนึ่งเที่ยวฝึกหัดยิงเนื้อในกลางป่า ตั้งพระทัยว่าจักยึดอาชีวะเป็นพรานพอเลี้ยงอาตมา พยายามลืมเสียซึ่งความหลงอันแสนจะชอกช้ำระกำทรวง

กาลล่วงมาวันหนึ่ง พระราชกุมารผู้ตกยาก ตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ ก็ถือเอาซึ่งธนูคู่มือออกมาจากทับที่อาศัย เพื่อแสวงหามฤคชาติทั้งหลาย

ครั้งนั้น ยังมีเทพเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นสหายกันกับพระราชกุมาร ได้เฝ้าติดตามอภิบาลรักษาพระราชกุมารด้วยความรักเสมอมา  เมื่อเห็นเธอจะประพฤติมิจฉาอาชีวะกระทำบาปกรรม ด้วยประสงค์จะเลี้ยงชีพด้วยปาณาติบาตอันมีโทษถึงตกนรกเช่นนั้น ก็ให้หวั่นเกรงกลัวภัยในอบายแทนสหายรักเป็นยิ่งนัก ใคร่จักให้ได้สติรู้จักผิดชอบชั่วดี จึงเนรมิตตนเป็นมฤคี แล้วก็แล่นมาล่อลวงให้พระราชกุมารนั้นเห็น

พรานหน้าใหม่ราชกุมาร ครั้นเห็นมิคชาติก็แล่นไล่ติดตามไป ฝ่ายมิคชาติเนื้อเนรมิตนั้น ก็แกล้งแล่นหนีไปในประเทศราวป่า จนถึงกุฎีที่อยู่แห่งพระมหาเถระองค์หนึ่ง ซึ่งมีนามว่า "พระมหากัจจายนเถรเจ้า" แล้วก็อันตรธานหายไป

กล่าวฝ่ายพระราชกุมาร ตั้งแต่ติดตามมิคชาติมาแสนจะเหน็ดเหนื่อยนักหนา แต่คิดมานะว่าจะจับเอาเนื้อนั้นให้จงได้ จึงอุตสาหะแล่นไล่มาจนถึงที่อยู่แห่งพระมหาเถรเจ้า ไม่เห็นเนื้อจึงเที่ยวพิจารณาดู และแล้วก็เหลือบไปเห็นพระมหาเถรเจ้านั่งอยู่นอกกุฎีป่าบรรณศาลา คิดดีใจจะเข้าไปถามว่าเห็นเนื้อวิ่งผ่านมาหรือไม่ จึงเอาลูกธนูสอดไว้ในแล่งแล้วเข้าไปหาพระเถระใกล้ ๆ

ฝ่ายพระเถรเจ้าของกุฎีป่าบรรณศาลา คิดดีใจจะเข้าไปถามว่าเห็นเนื้อวิ่งผ่านมาหรือไม่จึงเอาลูกธนูสอดไว้ในแล่งแล้วเข้าไปหาพระเถระใกล้ ๆ ฝ่ายพระเถรเจ้าของกุฎีป่า

เมื่อพิจารณาดูก็รู้ว่าชายผู้มาหานี้มีอาชีวะเป็นพรานไพร เพราะเครื่องแต่งกายบ่งบอกว่า เป็นผู้เที่ยวแสวงหามฤดี แต่ก็ทำเป็นมิรู้ไม่ชี้ ทักถามขึ้นด้วยอัธยาศัยดีว่า

"ตัวท่านนี้เป็นคนหนุ่มรุ่นดรุณวัย คงจะเป็นบุตรแห่งพรานไพร หรือว่าเป็นลูกท้าวลูกพระยา หรือว่าเป็นพระราชามหากษัตริย์มาประพาสป่า เพราะมีกิริยาเป็นพรานไพร มีมือถือธนูหน้าไม้ ท่องเที่ยวสันโดษเดี่ยวมา ณ ที่นี้"

เจ้าชายสุชาตราชกุมารผู้ตกยาก เมื่อจะบอกให้แจ้งซึ่งนามและวงศ์แห่งตนจึงกล่าวขึ้นว่า

"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ! ข้าพเจ้านี้เป็นพระโอรสแห่งพระราชอัสสกะแห่งกโปตกะนคร ข้าพเจ้าเที่ยวสัญจรมาในอรัญป่าไม้ เพื่อจะแสวงหามิคชาติและสุกรทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าสุชาตกุมาร แล่นไล่เนื้อมาในอรัญในบัดนี้ และ ณ ที่นี่ แล้วไม่เห็นเนื้อที่อุตสาหะติดตามมานานนั้น กลับเห็นแต่พระผู้เป็นเจ้านั่งอยู่" 

สาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า จึงกล่าวมธุรสวาจาปราศรัยว่า

"ดูกรพระราชกุมารผู้มีบุญเป็นอันมาก ! สภาวะที่พระองค์มาแต่ไกลก็เหมือนว่ามาแต่ที่ใกล้ เชิญบพิตรเสด็จมาข้างนี้ ขอเชิญบพิตรเสด็จมาข้างนี้ จงล้างพระบาททั้ง ๒ ให้สิ้นละอองธุลี น้ำนี้เย็นใสสะอาดจืดสนิท ตักมาแต่ลำธารซอกเขาข้างโน้น ขอบพิตรจงเสวยให้สำราญ แล้วอย่านั่งที่แผ่นดินไม่ดี จงทรงมานั่งเหนือภูมิภาคอันงามเรียบสะอาดที่อาตมภาพจัดไว้นั้นเถิด"

พระราชกุมาร เมื่อได้รักการปราศรัยต้อนรับด้วยอัธยาศัยอันดีงามเช่นนั้นจึงยอกรขึ้นนมัสการ แล้วกล่าวว่า

"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ! วาจาแห่งพระผู้เป็นเจ้านี้ไพเราะนัก เป็นวาจาควรที่จะยินดีฟัง เป็นวาจาที่ปราศจากโทษ เป็นวาจาประกอบไปด้วยประโยชน์ เป็นวาจานักปราชญ์อันประเสริฐ จักให้บังเกิดความสุขในทิฐธรรม จักนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นแน่แท้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้านี้คิดว่า ถ้าหากได้อาศัยพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าก็อาจจักได้รู้ซึ่งส่วนแห่งพระธรรม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ตนเอง ทั้งในโลกนี้และปรโลกภายภาคหน้าเป็นแน่แท้"

พระมหากัจจายนเถรเจ้า เมื่อจักสำแดงวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่พระราชกุมาร เพื่อให้รู้จักชั่วรู้จักดี จึงมีเถรวาทีว่า

"ขอถวายพระพรพระราชกุมาร ! อัธยาศัยแห่งอาตมาภาพนั้นมีอยู่ว่าบุคคลใดทำปาณาติบาตเบียดเบียนสัตว์ บุคคลผู้นั้นย่อมไม่เป็นที่ชอบใจแห่งอาตมภาพ เพราะว่าบุคคลใดเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตั้งอยู่ในศีล มีอัธยาอันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ทำปาณาติบาตนั้น เป็นผู้ที่อาตมภาพชอบใจ และนักปราชญ์ทั้งหลายมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมสรรเสริญบุคคลเช่นนั้น

ขอถวายพระพร ความตายแห่งท่านใกล้เข้ามาแล้ว ยังอีกไม่ถึง ๕ เดือน ตัวท่านก็จะถึงแก่ความตายแล้วขอท่านจงเร่งแก้ไขเอาตัวรอด ให้พ้นจากทุกข์ในอบายภูมิเถิด"

"อะไร ! พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่าอะไร ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเลย ที่ว่าตาย ๆ นั้น ใครกันที่จะตาย"

"ท่านนั่นแหละจะตาย" องค์อรหันต์ผู้อยู่ป่า สาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวขึ้น แล้วพระผู้เป็นเจ้าผู้บรรลุอภิญญารู้เหตุการณ์ข้างหน้าได้ก็บอกแก่พระราชกุมารด้วยความกรุณาอีกต่อไปว่า

"ขอถวายพระพร ! อาตมภาพพิจารณาดูด้วยญาณในอนาคต ก็เห็นว่า อายุแห่งท่านนั้น ยังอีกประมาณ ๕ เดือน ก็จะสิ้นแล้ว จึงบังเกิดความกรุณาและบอกแก่ท่านตรง ๆ ดังนี้"

เสียววาบเข้าไปในดวงฤดี เมื่อรู้ว่าชีวิตตนจะหมดสิ้นลงไปในไม่ช้า พระราชกุมารผู้น่าสงสาร ไหนจะต้องจากเวียงวังมาอยู่ไพรกันดาร ไหนจะต้องถึงแก่กาลกิริยาตายลงเป็นซ้ำสอง ก็ให้รู้สึกหม่นหมองโศกศัลย์ในความผันผวนวิปริตแห่งชีวิตเป็นนักหนา ในที่สุด ก็กล่าวถามอย่างไร้เดียงสาว่า

"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ! ที่ว่าอีก ๕ เดือนข้าพเจ้าจักตายนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าให้หวาดหวั่นพรั่นพรึงมิปรารถนาที่จักตาย จะมีอุบายอะไรบ้างหรือไม่ จะเป็นว่าหนีไปสู่ชนบทใด หรือจะทำกิจแห่งบุรุษอย่างไร หรือจะร่ำเรียนวิทยามนต์อันใดซึ่งจะเป็นเครื่องห้ามความตายได้ ขอให้พระผู้เป็นเจ้า จงมีความกรุณาแก่ข้าพเจ้าแล้วบอกมาเถิด ข้าพเจ้าจักกระทำทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกประการ"

เมื่อเห็นพระราชกุมารผู้มีสันดานเป็นปุถุชนหวาดหวั่นพรั่นพรึง และถามถึงอุบายเป็นเครื่องป้องกันความตายอย่างโง่เขลาเช่นนั้น องค์อรหันต์พระมหากัจจายนะผู้มีญาณวิเศษ จึงเริ่มสำแดงพระธรรมนามมฤตยูกถา โดยใจความว่า

ขอถวายพระพรพระราชกุมาร ! บุรุษมีวิชาการอันประกอบไปด้วยความวิเศษ และจะไปอยู่ประเทศถิ่นใด ๆ การที่เขาจะไม่แก่ไม่ตายในประเทศนั้น ๆ ย่อมจักเป็นไปมิได้ อีกประการหนึ่ง ชนทั้งหลายเหล่าใด แม้จะมีทรัพย์สมบัติและเครื่องใช้สอยเป็นอันมากก็ดี แต่การที่เขาเหล่านั้น จักรอดพ้นจากความตายย่อมจักเป็นไปมิได้

อนึ่ง ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เช่นเป็นบรมกษัตริย์ครอบครองราชสมบัติอันแสนประเสริฐเป็นเลิศเป็นใหญ่อยู่ในบ้านเมือง มีฤทธิ์เฟื่องฟุ้งลือขจร หมู่ดัสกรต่างเกรงกลัวยอมสยบ มีพระราชอาญาแผ่ไปร้อยโยชน์พันโยชน์ก็ดี แต่การที่เขาเป็นยอดชน จักรอดพ้นไปจากความตายนั้น ย่อมจักเป็นไปมิได้

อนึ่ง ชนผู้โลภมากทั้งหลาย อุตสาหะสะสมทรัพย์สมบัติข้าวปลาอาหารไว้ พอจะเลี้ยงผู้คนบ่าวไพร่อันมากมายได้สักเจ็ดสิบปีแปดสิบปีก็ดี แต่การที่เขาจะรอดพ้นจากความตายนั้น ย่อมจักเป็นไปมิได้เลย

ขอถวายพระพรพระราชกุมาร ! เมื่อมฤตยูคือความตายนั้น มาประจัญหน้าเข้ากับบุคคลใดแล้ว มฤตยูนั้น ย่อมมีสภาวะ***มหาญเด็ดเดี่ยวนัก

ไม่มีใครสามารถจักยังมฤตยูให้รู้แพ้แลกลับไปได้ ไม่จะด้วยทรัพย์สินเงินตราหรือวิทยาการกำลังกาย แม้ทแกล้วทหารทั้งหลาย ผู้คร่ำศึกเป็นขุนพลประกอบไปด้วยวิริยะความเพียร มีกำลังอาจสามารถที่จักเข้าผลาญผจญกับข้าศึกในสงครามครั้งสำคัญ เชื้อชาติทหารนั้นก็ย่อมจะสิ้นอายุ ชนทั้งหลายอื่นดื่นดาษ ไม่ว่าจะเป็นชาติกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้าและชาวนา ตลอดจนจัณฑาลและกระยาจกก็ดี การที่จะมิรู้ตายนั้นหามิได้

หรือชนทั้งหลายจะร่ายมนต์คาถา จะว่าไปในคัมภีร์ไสยไตรเพทางคศาสตร์อาจรู้น้ำใจ อันบุคคลผู้อื่นคิดด้วยฤทธิ์วิเศษเกินคนธรรมดา แม้จะมีวิชาประเสริฐอย่างนี้ การที่จะมิรู้ตายหามิได้

พระฤาษีดาบสทั้งหลาย ผู้ระงับเสียซึ่งบาปภายนอกมีจิตอันสูงสงบด้วยการบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ ตั้งมั่นอยู่ในตบะความเพียรเป็นนักหนา ถึงกระนั้นก็ต้องดับขันธ์สิ้นชีวา เมื่อถึงคราวที่มัจจุภัยเข้ามาประจัญ การที่คนเหล่านั้นจะมิรู้ตายนั้นหามิได้

ประการสุดท้าย พระอรหันต์ขีณาสพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้สิ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาน มีสันดานปราศจากมลทินโทษโดยประการทั้งปวง หลุดล่วงจากโลกิยธรรมแล้ว ก็หาได้มีสังขารอันแคล้วจากมฤตยูไปไม่เลย ความจริงเป็นดังนี้นะ พระกุมารขอถวายพระพร" 

ได้สดับเทศนามฤตยูกถากัณฑ์ใหญ่ดังนี้แล้ว พระสุชาตราชกุมาร ผู้ต้องทำนายว่าชะตาจักขาด ก็ย่อมมีจิตผ่องแผ้ว จึงค่อยเอื้อนโอฐเอ่ยขึ้นว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้า ! พระคุณเจ้าเป็นนักปราชญ์ประเสริฐ กถาทั้งหลายที่สำแดงมา เป็นวาทีสุภาษิตแท้ อาจเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าผู้จักสิ้นอายุอีกไม่นาน บัดนี้ข้าพเจ้าถึงความมัธยัสถ์จักปฏิบัติตามคำของพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นสัตว์ผู้ยากด้วยเถิดเจ้าข้า"

"ดูกรราชกุมาร !ท่านอย่าเข้าใจผิด คือว่าท่านอย่าได้ใส่ใจว่าจะเอาอาตมะเป็นที่พึ่ง อาตมะนี้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธจ้า อาตมะนี้ถึงซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถเป็นที่พึ่ง เมื่อพระราชกุมารมีความเลื่อมใส ก็จงยังใจของตนให้ถือเอาพระองค์เป็นที่พึ่งเถิด จะเกิดประโยชน์แก่ท่านเป็นหนักหนา"

"ข้าแต่พระคุณเจ้า ! สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้เป็นพระบรมศาสดาจารย์ ทรงพระคุณอันประเสริฐ ณ บัดนี้ พระองค์ประทับอยู่ที่ใด ข้าพเจ้าจะขอไปให้ได้เห็นสักครั้งหนึ่งให้ได้ แม้จักดับขันธ์ถึงแก่ชีพิตักษัยต่อภายหลังก็หาเสียใจไม่"

"ขอถวายพระพร ! สมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นอาชาไนยบรมไตรโลกนาถนั้น บัดนี้ เสด็จเข้าปรินิพานไปแล้ว การที่ท่านปรารถนาจักเห็นพระองค์จึงเป็นอันจนใจสุดวิสัยนัก"

พระมหากัจจายนเถรเจ้าชี้แจงให้พระราชกุมารได้สดับดังนี้ ก็กล่าวกถาให้เธอมีจิตยินดีเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนายิ่งขึ้นแล้ว จึงแนะนำให้พระราชกุมารนั้นตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์และศีล แล้วสอนว่า

"ขอถวายพระพรพระราชบุตร! แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักเสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้วก็ตาม ขอท่านจงถือเอาพระองค์ผู้เสด็จปรินิพานไปแล้วนั้นเป็นที่พึ่งแก่ท่านเถิด อนึ่ง พระธรรมเจ้าอันล้ำเลิศและพระอริยสงฆ์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ยังปรากฏมีอยู่ในโลกในกาลบัดนี้ ท่านจงถือเอาเป็นที่พึ่งอย่างสูงสุดของท่านเถิด

อีกประการหนึ่ง ขอท่านจงเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลที่ตนตั้งจิตสมาทานรักษา จงงดเว้นจากปาณาติบาตและอทินนาทาน เป็นต้น ขอท่านจงอย่าประมาท อย่าให้ศีลขาดได้ จงตั้งใจถือเอาไตรสรณคมน์และศีลนี้ไว้ให้ดีนะพระราชกุมาร"

"สาธุ เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพเจ้าหาที่สุดมิได้แล้วในครั้งนี้" พระราชกุมารผู้มีกรรมรู้ตัวว่าจักต้องตาย ประณมหัตถ์ชูขึ้นเหนือเกล้า กล่าวขึ้นด้วยความตื้นตันใจ

"ราชกุมารเอ๋ย ! เรามีความกรุณาแก่ท่าน องค์อรหันต์มองดูพักตร์แล้วกล่าวขึ้นอีกว่า "จะประโยชน์อันใดที่จะอยู่ในอรัญราวป่า อายุแห่งท่านจะยังอยู่ภายใน ๕ เดือนออก จึงจะถึงแก่ความตาย เราจะขอแนะนะให้แก่ท่าน เออ ! ท่านจงกลับเข้าสู่สำนักสมเด็จพระบิดาแล้ว จงอุตสาหะบำเพ็ญทานจำเริญซึ่งการกุศล เอาตนไปสู่สวรรค์เถิดจะดีกว่า"

ว่าเท่านี้แล้ว พระมหาเถระผู้มากไปด้วยความกรุณา ก็ลุกเข้าไปในกุฎี หยิบเอาพระบรมธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มายื่นให้แก่พระราชกุมารผู้จะถึงฆาฏพลางให้โอวาทว่า

"ท่านจงเอาพระบรมธาตุนี้ ไปบูชาให้จงดีเถิด" ดังนี้แล้ว ก็กล่าวปลอดจิตและเดินติดตามไปส่ง เมื่อจะพ้นบริเวณนั้น และก่อนที่พระราชกุมารผู้น่าสงสารจะนมัสการอำลาไปเป็นครั้งสุดท้าย ได้กล่าวอาราธนาพระมหาเถรเจ้าขึ้นว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้า ! ข้าพเจ้านี้จักกระทำตามถ้อยคำที่พระคุณสั่งไม่ลืมเลย แต่ขอให้พระคุณเจ้าจงอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วย คือว่าเมื่อข้าพเจ้าไปบ้านเมืองแล้วหากมีโอกาสดีในระยะ ๓-๔ เดือนนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกรุณาอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า ผู้จะต้องเข้าสู่ความตายด้วยเถิด"

กล่าวด้วยความเศร้าดังนี้แล้ว ก็ถวายนมัสการลา กระทำประทักษิณพระมหาเถระแล้ว ก็มุ่งหน้าเดินทางตรงไปยังบ้านเมือง พอมาถึงเขตพระนคร ก็เข้าไปอยู่ในสวนอุทยาน ส่งข่าวสาสน์ไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระราชบิดาว่าตนกลับมาอีกแล้ว สมเด็จพระบรมกษัตริย์ผู้ทรงมีพระมนัสเศร้าสร้อยละห้อยหา ตั้งแต่วันที่พระสุชาตราชโอรสจากไปแล้ว

เมื่อได้ทรงทราบข่าวสาสน์นั้น ก็พลันบังเกิดปิติโสมนัส จึงรีบเสด็จมาสู่สวนอุทยานพร้อมกับราชบริพารเป็นอันมากแล้ว ก็ทรงสวมกอดเอาพระราชโอรสให้สมกับที่ดวงพระหฤทัยระลึกถึงแล้วพาเสด็จเข้าสู่พระนคร ปรารถนาจะทรงกระทำพิธีราชาภิเษก ให้ครอบครองราชสมบัติ โดยมิได้ทรงกริ่งเกรงพระอัครมเหสีใหม่ผู้ต้นเรื่องหรือผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น  เจ้าชายสุชาตกุมาร จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

"ข้าแต่สมเด็จพระบิดา ! อายุของลูกนี้ยังน้อยแล้ว ยังอีก ๕ เดือนก็จักถึงซึ่งความตาย ก็อันคนที่รู้ตัวว่าจักต้องตายเช่นลูกนี้ จะประโยชน์ไยเล่าด้วยราชสมบัติ ลูกนี้จะขออาศัยอยู่ด้วยสมเด็จพระราชบิดา อาศัยสมเด็จพระราชบิดาเพียงเพื่อว่าจะก่อสร้างกองกุศลอันเป็นเสบียงสำหรับตนไปในวันข้างหน้า ลูกปรารถนาเพียงเท่านี้แหละ ขอเดชะ"

กราบทูลเนื้อความว่าดังนี้แล้ว ก็ทรงพระกันแสงสะอื้นไห้ และทูลเหตุการณ์ทั้งหลายตั้งแต่ตนจากไปอยู่อรัญ พร้อมกับกราบทูลพรรณนาซึ่งคุณแห่งพระมหาเถระและคุณพระรัตนตรัย ให้สมเด็จพระราชบิดาทรงทราบทุกประการ

สมเด็จพระนฤบดีได้ทรงฟัง ก็มีพระราชหฤทัยบังเกิดความสังเวชสงสารพระราชกุมารโอรสรักเป็นที่ยิ่ง และเมื่อทรงคำนึงไป ก็มีพระหฤทัยเลื่อมใสศรัทธาในพระมหาเถรเจ้าและพระไตรสรณาคมน์ พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระมหาวิหารอันใหญ่แล้ว ส่งทูตทั้งหลายให้ไปอาราธนาพระมหาเถระมา
พระมหากัจจายนเถรเจ้า

เมื่อได้รับข่าวสาสน์จากทูตทั้งหลาย ก็มีใจใคร่จะอนุเคราะห์แก่สมเด็จบรมกษัตริย์และปวงมหาชน จึงรับอาราธนาเดินทางมาสู่กโปตกะมหานครพร้อมกับทูตทั้งหลาย

เมื่อมาถึงแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับจากสมเด็จพระราชาธิบดี พร้อมกับไพร่ฟ้าคฤหบดีอย่างมโหฬาร หลังจากที่พระเถรเจ้าเข้าไปยังมหาวิหารแล้ว สมเด็จพระบรมกษัตริย์ก็ทรงอุปัฏฐากด้วยปัจจัย ๔ ตามสมควรแก่สมณวิสัย ครั้นได้สดับพระธรรมเทศนาอันพระมหาเถระแสดงแล้วก็ทรงตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์และศีล

ฝ่ายพระราชกุมาร ผู้อันอัจจุภัยคุกคามอยู่และใกล้เข้ามาทุกเวลานาทีก็มียินดีสมาทานเอาศีลทุกวัน ตั้งมั่นอยู่ในศีล อุตสาหะ บำเพ็ญทานและทำการอุปัฎฐากพระมหาเถระผู้มีคุณด้วยความคารวะเป็นอย่างยิ่ง พอถึงวันที่จะมีชีวิตอยู่ดูโลกเป็นวันสุดท้าย โดยกาลอันล่วงไป ๔ เดือนแล้ว

วันนั้น พระราชกุมารมีจิตผ่องแผ้วเป็นพิเศษ เพลาเช้าเข้าไปถวายทานแก่พระมหาเถระยังมหาวิหารสมาทานศีลแล้วก็สดับพระธรรมเทศนาอันพระมหาเถระผู้มีจิตกรุณาเป็นองค์แสดงแล้วกลับพระบรมมหาราชวัง เสด็จเข้าไปยังพระแท่นที่เพื่อจะพักผ่อนพระอริยาบถอย่างสำราญ ทรงมีดวงจิตคิดถึงศีลที่ตนสมาทานอยู่ ชั่วครู่ก็ให้บังเกิดเป็นโรคลมปัจจุบัน ถึงแก่ชีพิตักษัยในขณะนั้น แล้วขึ้นมาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรสุดโสภา ณ แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้

มีราชรถประดับไปด้วยสัตตพิธรัตนะแก้ว ๗ ประการ อันเป็นทิพย์เป็นยานพาหนะคู่บุญบารมี สถิตอยู่ ณ ปราสาทพิมานเสวยสดุดี มีเทพนารีเป็นบริวารแวดล้อมมากกว่าร้อยกว่าพัน เพราะเหตุที่เทพบุตรนั้น มีรถทิพย์เป็นยาน ฉะนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า "จูฬรถเทพบุตร"

ก็จูฬรถเทพบุตรนั้น เมื่อเสวยสุขอยู่ ณ สรวงสวรรค์ได้หน่วยหนึ่งแล้ว พิจารณาถึงเหตุที่พาให้ตนได้รับความสุข ก็รู้แจ้งเห็นอานิสงส์แห่งกัลยาณกรรมแห่งตน พร้อมกับเห็นคุณแห่งพระมหากัจจายนเถรเจ้า ด้วยจิตคิดกตัญญูรู้คุณ จึงขึ้นสู่รถทิพย์แวดล้อมไปด้วยบริวารเป็นอันมาก เสด็จเลื่อนลอยจากดาวดึงส์พิภพ มายังมนุษย์โลกเรานี้ ณ ที่กโปตกะนคร

ขณะนั้น เป็นเพลาที่สมเด็จพระราชาธิบดี พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระราชโอรสสุดที่รักด้วยเศร้าสลดพระทัยเป็นยิ่งนักพอดี จึงมีประชาชนชาวเมืองมาประชุมในที่นั่นกันอย่างคับคั่ง และพระมหากัจจายนเถรเจ้าก็อยู่ ณ สมาคมนั้นด้วย เมื่อจูฬรถเทพบุตรมาถึงแล้ว ก็ลงจากทิพยรถ เข้าไปกราบลงแทบบาททั้งสอง แล้วประคองหัตถ์ขึ้นประณมแก่พระมหาเถรเจ้านั้น

องค์อรหันตสาวกสำคัญ แห่งองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ผู้ได้บรรลุญาณพิเศษ เมื่อแลเห็นเทพบุตรมาประณมกรต่อพักตร์ด้วยทิพย์จักษุ จึงมีเถรวาทีไต่ถามว่า
"พระอาทิตย์มีรัศมีเป็นอันมากสมด้วยคุณานุรูปแห่งตน มีรัศมีแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้งหลายและแผ่ไปบนอากาศได้ฉันใด ทิพยรถแห่งท่านนี้ มีรัศมีมากมายใหญ่ได้หลายโยชน์ฉันนั้น ทิพยรถนั้น มีธงอันแล้วไปด้วยแผ่นทอง มีงอนรถอันวิจิตรไปด้วยแก้วมณีแลแก้วมุกดาสลักเป็นดอกไม้ลดาวัลย์ เกี่ยวพันไปด้วยแก้วไพฑูรย์ และตกแต่งงดงามแล้วไปด้วยสุวรรณรัชต์มากมาย เทียมด้วยอาชาไนยสินธพชาติ

เมื่อตัวท่านสถิตอยู่บนอาสนะ ณ ทิพยรถนั้น ย่อมองอาจงดงามดุจท่านท้าวโกสีย์ อาตมะขอถามท่าน อันว่ายศบริวารและสมบัติพัสถาน ทั้งนี้ ท่านได้ด้วยเหตุอันใด"
"ข้าแต่พระผู้เจ้า ! ข้าพเจ้านี้แต่ก่อนเป็นราชบุตรนามว่า สุชาตะ คือเจ้าของร่างสรีระที่คนทั้งหลายกำลังฌาปนกิจกันอยู่ขณะนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้มีคุณรู้ว่าข้าพเจ้านี้จักสิ้นอายุแล้ว เอ็นดูกรุณาแนะนำแก่ข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์และศีล แล้วให้พระบรมธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบูชา ข้าพเจ้าก็อุตส่าห์สักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม

ครั้งสิ้นชีพจากมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิด ณ ปราสาทพิมานชั้นดาวดึงส์สวรรค์ ใกล้ ๆ กับสวนนันทวันทิพยอุทยาน อันแสนประเสริฐสนุกสนานน่ายินดี ข้าพเจ้ามาในที่นี้ เพื่อจักแสดงกตัญญูแต่พระผู้เป็นเจ้า"

จูฬรถเทพบุตรนั้น ครั้นสำแดงซึ่งบุรพกรรมของตนแก่มหาเถรเจ้าดังนี้แล้ว ก็ถวายนมัสการอำลา กระทำประทักษิณมหาเถระ แล้วก็เข้าไปกระทำประทักษิรด้วยความเคารพแด่สมเด็จพระนฤบดีจอมคนแห่งกโปตกะนครผู้บิดาแห่งตน ทั้ง ๆ ที่องค์อภิชนนั้นไม่มีโอกาสได้เห็นตนผู้เป็นเทพแต่ประการใด แล้วก็ขึ้นสู่ทิพยรถคู่บารมี เสด็จจรลีไปยังปราสาทพิมานแห่งตน ณ ดาวดึงส์สวรรค์เทวโลก
 
สรุปความว่า สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ เป็นแดนสุขาวดีที่มีเทพผู้ปกครอง ๓๓ องค์ ซึ่งมีสมเด็จพระอมรินทราธิราชทรงเป็นประธานาธิบดี ทวยเทพทั้งมวลล้วนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสำราญด้วยการเสวยทิพย์สมบัติทุกทิพาราตรีกาล เพราะความบันดาลแห่งบุญกุศลที่ตนได้สร้างเอาไว้แต่ปางก่อนย้อนมาให้ผล จึงทำให้ตนได้รับความสุขอันเป็นทิพย์เห็นปานฉะนี้ ดังนั้น ท่านที่มีปัญญาประกอบไปด้วยศรัทธาเชื่อมั่นในพระบรมพุทโธวาท มีปสาทเลื่อมใสในพระพุทธฎีกา เมื่อปรารถนาใคร่จักได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดาเสวยสุขอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นนี้ ภายหลังจากที่ตนดับขันธ์สิ้นชีวีไปแล้วไซร้ ในบัดนี้ ควรจักรีบเร่งกระทำความดี ยังจิตแห่งตนให้ยินดีในการบริจาคทาน ชำระสันดานแห่งตนให้งดงามด้วยการรักษาศีลไว้ให้จงมั่นเถิด เมื่อกองการกุศลที่ตนอุตสาหะก่อสร้างไว้นั้นมีพลังเพียงพอแล้ว ก็จักเป็นแรงผลักดันให้ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพยดา ณ ดาวดึงส์สวรรค์แดนสุขาวดีอย่างแน่นอน
 
ผู้แสดงความคิดเห็น พระชาญวิทย์ ธมฺมวโร วันที่ตอบ 2010-01-27 09:43:59 IP : 58.147.55.136

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น