สวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิก

สวรรค์ชั้นที่ ๑
จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ


เทวภูมิอันดับที่ ๑ นี้ เป็นแดนแห่งความสุข ที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพยดาชาวฟ้าผู้อุบัติเทพ มีเทวราชผู้ยิ่งใหญ่ ๔ พระองค์ ทรงเป็นอธิบดีผู้มีมเหศักดิ์ปกครองดูแล เพราะฉะนั้น สรวงสวรรค์ชั้นนี้ จึงมีนามว่า จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ  ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพอันมีท้าวจาตุมหาราชทรงเป็นอธิบดีเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า อันมีนามว่า จาตุมหาราชิกานี้ มีเมืองใหญ่ซึ่งเป็นเทพนครอยู่ถึง ๔ พระนคร แต่ละพระนครมีปราการกำแพงทองทิพย์เหลืองอร่ามแลดูงามนักหนา

ซ้ำประดับประดาไปด้วยสัตตรัตนะแก้ว ๗ ประการ บานประตูแห่งกำแพงทองทิพย์นั้น แล้วไปด้วยแก้ววิเศษแสนประเสริฐ และมีปราสาทอันรุ่งเรืองสวยงามอยู่เหนือประตูทุกๆประตู 

ภายในเทพนครอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น มีปราสาทแก้วอันเป็นวิมานที่อยู่แห่งเทพยดาชาวฟ้าทั้งหลาย ปรากฏตั้งอยู่เรียงรายมากมาย ฝ่ายพื้นภูมิภาคนั้นเล่า ก็หาใช่เป็นพื้นแผ่นปฐพีดังมนุษย์โลกเรานี้ไม่ โดยที่แท้ เป็นพื้นแผ่นสุวรรณทองคำ มีสีเหลืองอร่ามรุ่งเรืองเลื่อมพรรณรายราบเรียบเสมอมีครุวนาดุจหน้ากล้อง และมีความวิเศษอ่อนนิ่มดังฟูกผ้าเมื่อฝูงเทพยดาทั้งหลายเหยียบลงไป ก็มีลักษณะการอ่อนยุบลง แล้วก็เต็มขึ้นมาดังเดิม มิได้เห็นรอยเท้าของเทพยดาทั้งหลายเหล่านั้นเลย 

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเทวภูมินี้ นอกจากจะมีสมบัติทิพย์อันอำนวยความสุขให้แก่ปวงเทพยดานานาประการแล้ว ยังมีสระโบกขรณีอันมีน้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยปทุมชาตินานาชนิด ส่งกลิ่นทิพย์หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณเป็นดั่งเช่นมีใครแสร้งเอาน้ำอบน้ำหอมไปประพรหมไว้ตลอดกาลฉะนั้น มีดอกไม้นานาพรรณสีสันวิจิตรตระการตา และมีรุกชาติต้นไม้สวรรค์อันแสนประเสริฐนักหนา  ด้วยว่ามีผลปรากฏประกอบไปด้วยโอชารสอันยิ่ง  แลอันว่ามิ่งไม้ในสรวงสวรรค์นั้น  ย่อมมีดอกมีผลอันเป็นทิพย์  ปรากฏให้เหล่าชาวสวรรค์ได้ชื่นชมอยู่ตลอดกาลไม่มีวันร่วงโรยและหมดไปเลย  ก็เทพนครทั้ง ๑ ในสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ มีเทวาธิราชผู้มเหศักดิ์มีหธิอำนาจปกครอง ดังต่อไปนี้คือ

 
๑. ธตรฐมหาราช

เทพนครปราการสุวรรณอันสวยสวยสดงดงาม  ซึ่งตั้งอยู่ในทิศบูรพา คือ ทิศตะวันออกแห่งแดนสุขาวดีสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมาหราชิกานี้  มีเทวาผู้ยิ่งใหญ่ทรงพระนามว่า "ท้าวธตรฐมหาราช"

ทรงเป็นจอมเทพผู้ปกครอง  ก็อันว่าท่านท้าวธตรฐมหาราชนี้ พระองค์ทรงเป็นเทวาธิราช มีบุญญานุภาพมาก มีรัศมีมาก เทวาที่อุบัติเกิดเป็นบุตรของพระองค์มีมากมาย  แต่ละพระองค์ล้วนแต่ทรงไว้ซึ่งกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ เป็นอันมาก

พระองค์ทรงเป็นอธิบดีผู้มีอำนาจใหญ่ ทรงปกครองทวยเทพในเทพนครด้านทิศบูรพา ณ สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้โดยธรรม ยังความสุขสำราญชื่นบานหรรษา ให้บังเกิดแก่มวลเทพยดาผู้เป็นบริวาร ตลอดทุกทิพาราตรีกาล
นอกจากจะทรงเป็นเทวาธิราช ผู้มียศศักดิ์และอำนาจเหนือเทพบริษัทในเทพนครด้านทิศบูรพาดังกล่าวแล้ว ท่านท้าวธตรฐมหาราช ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีปกครอง "หมู่คนธรรพ์" อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ก็หมู่คนธรรพ์นี้ เป็นเทวดาพวกหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ มีความถนัดในการดนตรีศิลปะระบำรำฟ้อน และชำนาญในเพลงขับเป็นยิ่งนัก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอยู่ในหมู่เทวดาทั้งหลาย เช่น คนธรรพ์ผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่าสุมธรรมา  ชำนาญตีกลองประจำตัว กับคนธรรพ์อีกผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า พิมพสุรกะ ชำนาญในการตีกลองหน้าเดียว เมื่อเขาทั้ง ๒ ตีกลองด้วยเพลงคนธรรพ์อันเลื่องลือย่อมปรากฏว่ามีความไพเราะ เป็นที่เสนาะโสตชื่นชอบแห่งเหล่าเทพยดานักหนา ไม่ว่าจะมีเทวสันนิบาตการชื่นชุมนุมเพื่อความสนุกสนานของเหล่าเทวดาทั้งหลาย ณ ที่ใด ย่อมมีฝูงคนธรรพ์ทั้งหลายไปร่วมด้วย โดยทำหน้าที่เป็นผู้ขับกล่อมและจับระบำรำฟ้อนให้ปวงเทพได้รับความชื่นบานเริงสราญในเทวสันนิบาตสถานนั้น ๆ อยู่เป็นนิตย์เสมอมา มิได้ขาดสักคราเลย ก็หมู่คนธรรพ์ มีความภักดีและความเคารพ ต่อท่านท้าวธตรฐมหาราชผู้เป็นอธิบดีแห่งพวกตนเป็นยิ่งนัก

 
๒. วิรุฬหกมหาราช

เทพนครปราการสุวรรณอันสวยสดงดงาม ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศทักษิณคือ ทิศใต้แห่งแดนสุขาวดีสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ มีเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ทรงพระนามว่า "ท้าววิรุฬหกมหาราช" ทรงเป็นจอมเทพผู้ปกครอง

ก็อันว่าท่านท้าววิรุฬหกมหาราชนี้  พระองค์เป็นเทวาธิราช มีบุญญานุภาพมาก  มีรัศมี  มียศเป็นอันมากเทวาที่เป็นอุบัติเทพบังเกิดเป็นเทพบุตรของพระองค์นั้นมากมาย  แต่ละองค์ทรงไว้ซึ่งกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มียศเป็นอันมาก  พระองค์ทรงเป็นอธิบดีมีอำนาจใหญ่ ทรงปกครองทวยเทพในเทพนครด้านทิศทักษิณ ณ สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้โดยธรรม  ยังความสุขสำราญชื่นบานหรรษาให้บังเกิดแก่มวลเทพยดาผู้เป็นบริวาร ตลอดทุกทิพาราตรีกาล
นอกจากจะทรงเป็นเทวาธิราช  ผู้มียศศักดิ์และมีอำนาจเหนือเทพบริษัทในเทพนครด้านทิศทักษิณดังกล่าวแล้ว  ท่านท้าววิรุฬหกมหาราช ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีปกครอง  "หมู่กุมภัณฑ์"  อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ก็หมู่กุมภัณฑ์นี้เป็นพวกกายทิพย์พวกหนึ่ง  ซึ่งมีรูปร่างแปลกประหลาดพิกล  คือ  ส่วนอุทรท้องนั้นมีสัณฐานใหญ่ผิดธรรมดา และมีสัญลักษณ์พิเศษที่สังเกตได้ง่ายอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหล่ากายทิพย์พวกนี้ มีอัณฑะซึ่งมีลักษณะเหมือนหม้อ ฉะนั้น จึงได้นามว่า กุมภัณฑ์ ซึ่งแปลว่าเหล่าสัตว์ที่มีอัณฑะเหมือนหม้อ

พวกเขาเหล่ากายทิพย์กุมภัณฑ์เหล่านี้ มีความสุขโดยสมควรแด่อัตภาพและมีความภักดีเคารพต่อท่านท้าววิรุฬหกมหาราช ผู้ทรงเป็นอธิบดีผู้ประเสริฐ แห่งพวกตนเป็นยิ่งนัก

 
๓. วิรูปักษ์มหาราช

เทพนครปราการสุวรรณอันสวยงาม ซึ่งตั้งอยู่ในทิศปัจฉิม คือ ด้านตะวันตกแห่งแดนสุขาวดีสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ มีเทวาธิราชผู้ยิ่งใหญ่ทรงพระนามว่า "ท้าววิรูปักษ์มหาราช" ทรงเป็นจอมเทพผู้ปกครอง ก็อันว่าท่านท้าววิรูปักษ์มหาราชนี้นั้นพระองค์ทรงเป็นเทวาธิราช มีบุญญานุภาพมาก มีรัศมีมาก

เทวาที่อุบัติเกิดเป็นบุตรของพระองค์ก็มีมาก แต่ละองค์ล้วนแต่ทรงไว้ซึ่งพละกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มียศ เป็นอันมาก พระองค์ทรงเป็นอธิบดีผู้มีอำนาจใหญ่ ทรงปกครองทวยเทพในเทพนครด้านทิศตะวันตก ณ สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้โดยธรรม ยังความผาสุกชื่นบานหรรษาให้บังเกิดแก่มวลเทพผู้เป็นบริวาร  ตลอดทุกทิพาราตรีกาล
นอกจากจะทรงเป็นเทวาธิราช  ผู้มียศศักดิ์ และมีอำนาจเหนือเทพบริษัทแห่งตนในเทพนครด้านทิศตะวันตกดังกล่าวแล้ว ท่านท้าววิรูปักษ์มหาราชยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีปกครอง "หมู่นาค" อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ก็หมู่นาคนี้ เป็นสัตว์วิเศษเหล่ากายทิพย์พวกหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่ามีฤทธิ์เดชมาก เพราะพิษแห่งนาคทั้งหลายนั้นมีฤทธิ์กล้าแข็ง แต่เพียงถูกต้องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พิษแห่งนาค ย่อมมีฤทธิ์สามารถตัดเอาผิวหนังแห่งบุคคลนั้น ให้ถึงแก่ความตายได้ในพริบตาเหมือนกับคบดาบ และเหล่านาคทั้งหลายย่อมรู้จักนิรมิตตน

เมื่อมีความประสงค์จะเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ณ แดนมนุษยโลกเรานี้ บางคราวเหล่านาคีผู้มีฤทธิ์ย่อมนิรมิตตนเป็นงู บางคราวก็ทรงเพศเป็นเทพยดา แต่บางคราวก็นิรมิตตนเป็นกระแตบ้าง เป็นต้น เที่ยวไปในราวไพรตามอัธยาศัยแห่งตนอย่างสุขสำราญ 

ในกรณีนี้ หากจะมีปัญหาว่า "สัตว์ทั้งหลายในวัฏสงสาร" ทำกรรมอะไรไว้ จึงได้มีโอกาสมาเกิดเป็นนาคได้เล่า"

คำวิสัชนาก็มีว่า  มีพระภิกษุพุทธสาวกรูปหนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าแล้วทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ! อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้คนบางคนในโลกนี้ ตายแล้วไปเกิดเป็นนาค"

สมเด็จพระผู้มีพระภาพเจ้า ได้ทรงมีพระมหากรุณาตรัสว่า "บุคคลบางคนในโลกนี้ เขาได้ยินได้ฟังมาว่า พวกนาคมีอายุยืน มีวรรณะงาม มีความสุขมาก เขาจึงชอบใจ แล้วทำความดีด้วยไตรทวารแล้วมีความปรารถนาว่า  "โอหนอ เมื่อเราตายไปจากโลกนี้แล้ว ขอให้เราได้ไปบังเกิดเป็นนาค"

ครั้งเขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย คือได้ไปเกิดเป็นนาคข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้คนบางคนในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วไปเกิดเป็นนาค"

พระพุทธฎีกานี้ ย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ประกอบกัลยาณกรรมความดีด้วย กาย วาจา ใจ ยินดีในการบำเพ็ญกุศล เมื่อต้องการไปเกิดเป็นนาคย่อมมีโอกาสได้เป็นนาคในชาติต่อไปสมความปรารถนา พวกนาคเหล่านี้ มีชีวิตความเป็นอยู่โดยผาสุกสมควรแก่อัตภาพ และพวกเขามีความภักดีและความเคารพต่อท่านท้าววิรูปักษ์มหาราช ผู้ทรงเป็นอธิบดีทรงพระคุณอันประเสริฐแห่งตนเป็นยิ่งนัก

 
๔. เวสสุวัณมหาราช

เทพนครปราการสุวรรณอันสวยสดงดงาม ซึ่งปรากฏตั้งตระหง่านอยู่ด้านทิศอุดร คือทิศเหนือ แห่งแดนสุขาวดีสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ มีเทวาผู้ยิ่งใหญ่ทรงพระนามว่า "ท้าวเวสสุวัณมหาราช" ทรงเป็นจอมเทพผู้ปกครอง

ก็อันว่าท่านท้าวเวสสุวัณมหาราชนี้ยังมีพระนามปรากฏเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปอีกอย่างหนึ่งว่า "ท้าวกุเวรมหาราช" พระองค์ทรงเป็นเทวาธิราชผู้มเหศักดิ์ มีบุญยานุภาพมาก มีรัศมี มียศเป็นอันมาก เทวาที่อุบัติเกิดเป็นบุตรของพระองค์นั้นมีมากมาย แต่ละองค์ล้วนทรงไว้ซึ่งพละกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มียศเป็นอันมาก

พระองค์ทรงเป็นอธิบดีมีอำนาจใหญ่ ทรงปกครองทวยเทพในเทพนครด้านทิศอุดร ณ สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้โดยธรรม ยังความผาสุกชื่นบานหรรษา ให้บังเกิดแก่มวลเทพยดาผู้เป็นบริวาร ตลอดทุกทิพาราตรีกาล

นอกจากจะทรงเป็นเทวาธิราช ผู้มียศศักดิ์และอำนาจเหนือเทพบริษัทในเทพนครด้านอุดรดังกล่าวแล้ว ท่านท้าวเวสสุวัณมหาราชนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีปกครอง "หมู่ยักษ์" อีกตำแหน่งหนึ่งอีกด้วย ก็หมู่ยักษ์นี้เป็นสัตว์ประเภทกายทิพย์พวกหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าสันดานแตกต่างกัน คือ บางตนก็มีสันดานดีประกอบด้วยศีลธรรม บางตนมีสันดานร้ายมีจิตใจมากไปด้วยโทสะ โมหะ เป็นอันธพาลใจแกล้วกล้าหาญดุดัน มิใคร่จะเลื่อมใสเชื่อฟังคำแห่งพระสัพพัญญูเจ้าเอาง่าย ๆ ในกรณีนี้ พึงทราบดังเรื่องที่ปรากฏในอาฏานาฏิยสูตร โดยใจความว่า


คราวหนึ่ง สมเด็จพระมหามุนีนาถบรมศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราทั้งหลายพระองค์ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น  ท่านท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้ทรงเป็นจอมเทพอธิบดีแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ได้พากันมาเฝ้า ตั้งอารักขาไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งพลขันธ์ ตั้งผู้ตรวจตราไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วยเสนายักษ์กองใหญ่ ๑ เสนาคนธรรพ์กองใหญ่กอง ๑ เสนากุมภัณฑ์กองใหญ่กอง ๑ เสนานาคกองใหญ่กอง ๑ ในขณะเมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว เปล่งรัศมีรุ่งเรืองพรรณรายงามยิ่ง ทำให้ภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นสว่างไส  วแล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ถวายบังคมแล้วพากันประทับนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง
ฝ่ายยักษ์ทั้งหลาย ผู้เป็นบริวารของท่านท้าวเวสสุวัณมหาราชนั้นสำแดงกิริยาอาการต่าง ๆ กันคือ


บางพวก ถวายบังคมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าแล้ว ก็นั่งเงียบอยู่  บางพวกปราศรัยกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า ด้วยเรื่องพอให้ระลึกถึงกันแล้ว ก็นั่งเป็นปรกติ  บางพวก เป็นแต่เพียงประณมอัญชลีไปทางที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าประทับ แล้วนั่งเงียบ  บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตนแล้ว นั่งเงียบอยู่  บางพวกมิได้สำแดงกิริยาอาการอันใดทั้งสิ้น นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ท่านท้าวเวสสุวัณมหาราช จอมเทพผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งพวกยักษ์เหล่านั้นได้กราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมไตรโลกนาถขึ้นในคราวนั้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในบรรดายักษ์ทั้งหลายเหล่านี้ ยักษ์ชั้นสูงบางพวก มิได้เลื่อมใสในสมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้าก็มี  ยักษ์ชั้นสูงบางพวก มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้าก็มี  ยักษ์ชั้นกลางบางพวก มิได้เลื่อมใสในสมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้าก็มี  ยักษ์ชั้นกลางบางพวก มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้าก็มี
ยักษ์ชั้นต่ำบางพวก มิได้มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้าก็มี  ยักษ์ชั้นต่ำบางพวก มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้าก็มี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! โดยมากการที่ยักษ์ทั้งหลาย มิได้มีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคนั้น เป็นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่า สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท การดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่โดยมาก พวกยักษ์ทั้งหลาย มิได้งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท การดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  เพราะเหตุนี้แหละพระเจ้าข้า สมเด็จพระพุทธองค์จึงไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจ ของยักษ์เหล่านั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็พระสาวกของสมเด็จพระพุทธองค์นั้น บางพวกย่อมพอใจอยู่ราวไพรในป่า เสพเสนาสนะอันสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย  ปราศจากหมู่ชนผู้เดินไปมา  เป็นสถานที่ควรแก่การกระทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น  ยักษ์ชั้นสูงบางพวก มักสิงสถิตอยู่ในป่าเช่นนั้น  ยักษ์พวกใดมิได้เลื่อมใสในปาพจน์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  จงทรงถือเอาการรักษาอันชื่อว่า อาฎานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า

องค์อธิบดีแห่งมวลยักษ์คือ ท่านท้าวเวสสุวัณมหาราช กราบบังคบทูลอย่างยืดยาวฉะนี้  เมื่อทรงเห็นสมเด็จพระจอมมุนีทรงรับอาราธนาโดยพระอาการดุษณีแล้ว จึงกล่าว "อาฎานาฏิยะรักษา" ในเวลานั้น เป็นใจความว่า


"ขอนอบน้อม แด่สมเด็จพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระจักษุผู้ทรงไว้ซึ่งพระพุทธสิริ ขอนอบน้อม แด่สมเด็จพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่มวลสัตว์ทุกถ้วนหน้า เป็นต้น"  

ครั้นตรัสอาฏานาฏิยะรักษา ถวายสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าจบลงแล้ว องค์จอมเทพผู้พุทธสาวก ได้กราบทูลขึ้นว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! การรักษาอันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ นี้แหละพระเจ้าข้า ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีกิจมาก มีกรณียะมาก จักขอทูลลาไปแล้วพระเจ้าข้า"

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงตรัสตอบว่า "ดูกรมหาบพิตร ! ขอมหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควร ณ บัดนี้เถิด"

ลำดับนั้น ท่านท้าวมหาราชจอมเทพผู้มีมเหศักดิ์ทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาททำประทักษิณสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า  แล้วอันตรธานไปในขณะนั้นเอง  ฝ่ายยักษ์ทั้งหลาย  เมื่อเห็นองค์อธิบดีแห่งตน  เสด็จกลับแล้วก็จะกลับบ้าง

และในขณะที่พวกเขาจักกลับนี้  ก็แสดงกิริยาอาการต่างกันอีกคือบางพวก ลุกขึ้นแล้ว ถวายอภิวาททำประทักษิณสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าแล้ว อันตรธานหายไป  บางพวก ลุกขึ้นแล้ว ปราศรัยกถาพอให้ระลึกถึงกันกะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าแล้ว อันตรธานหายไป  บางพวก ลุกขึ้นแล้ว ประณมอัญชลีไปทางที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า แล้วอันตรธานหายไป  บางพวก ลุกขึ้นแล้ว ประกาศนามและโคตรของตนแก่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าแล้ว อันตรธานหายไปในขณะนั้นเอง

เรื่องที่เล่ามานนี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ก็คงจะเห็นแล้วว่า เหล่ายักษ์ทั้งหลายซึ่งมีกายเป็นทิพย์นับเนื่องเจ้าในเทพชั้นต่ำแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้มีปรากฏอยู่มากมาย  บางตนเป็นพวกยักษ์ร้าย บางตนเป็นยักษ์ผู้ดี เพราะมีสันดานแตกต่างกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม บรรดายักษ์ทั้งหลาย ย่อมมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพ  และพวกเขาเหล่านั้น ย่อมมีความจงรักภักดีและมีความเคารพยำเกรงต่อท่านท้าวเวสสุวัณมหาราช ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งพวกตนเป็นยิ่งนัก

 
ทางไปสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

เมื่อได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ แห่งเหล่าชาวสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาดังพรรณนามาแล้ว  บัดนี้ถึงปัญหาสำคัญ  ที่เราท่านควรจะสนใจ ปัญหาที่ว่านั้นก็คือว่า "การที่จะได้มีโอกาสไปเกิดเป็นเทพยดา ณ แดนสุขาวดีจาตุมหาราชิกาสวรรค์นั้น จักต้องทำประการใดบ้าง"

การที่เหล่าสัตว์ในวัฏสงสาร ซึ่งรวมทั้งเราท่านผู้เป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลกขณะนี้ จักมีโอกาสไปเกิดเป็นเทพยดาได้นั้น เมื่อจะกล่าวอย่างสั้น ๆ  ก็คือต้องประกอบกรรมอันเป็นบุญเป็นกุศล เช่น ให้ทานรักษาศีล เป็นต้น  จึงจะมีโอกาสไปเกิด ณ สรวงสวรรค์ได้ นี่เป็นกฎตายตัว เป็นหลักใหญ่อย่างกว้าง ๆ ที่ควรจักจดจำไว้

แต่เมื่อจะแยกให้ละเอียดลงไปเป็นส่วนเฉพาะว่า "การที่จักได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ จะต้องประกอบกุศลกรรมความดีชนิดใด"  ในเรื่องนี้ ถ้าจักให้ดี พึงทราบตามพระพุทธฎีกาที่องค์สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในสูตรต่าง ๆ ซึ่งจักขอประมวลมาตั้งไว้ในที่นี้ ดังต่อไปนี้

 
 
ทานสูตร


สมัยหนึ่ง สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี  ชื่อว่าคัคครา ใกล้จัมปานคร  พร้อมกับด้วยพระสงฆ์องค์อรหันตสาวกเป็นอันมาก

อุบาสกชาวเมืองจัมปามากคนด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรองค์อัครสาวก เมื่ออภิวาทนมัสการแล้ว ได้กราบเรียนพระผู้เป็นเจ้าขึ้นว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพเจ้าไม่ได้ฟังกันมานานแล้ว ได้โปรดเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดพาพวกข้าพเจ้าไปฟังธรรมมีกถาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเถิดเจ้าข้า"

องค์ธรรมเสนาบดีสารีบุตร จึงบอกแก่อุบาสกเหล่านั้นว่า "ดูกรอุบาสกทั้งหลาย ! ถ้าเช่นนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย จงพากันมาในวันอุโบสถเถิด เมื่อถึงวันนั้นแล้ว พวกท่านจักได้สดับธรรมีกถาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นนอน"

อุบาสกชาวเมืองจัมปา รับคำขอท่านสารีบุตรมหาขีณาสพแล้ว ก็ลุกจากที่นั่งพากันอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ต่อมา เมื่อถึงวันอุโบสถ ได้เวลานัดหมายแล้ว พระเถระเจ้าก็พาเอาอุบาสกทั้งหลายเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ทานที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมากแต่ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือไม่ พระเจ้าข้า และทานที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ถึงมีหรือไม่หนอ พระเจ้าข้า"

สมเด็จพระมหากรุราสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า

"ดูกรสารีบุตร ! ทานที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว เป็นทานมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มากก็มี และทานที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มากก็มี"

ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาต่อไปอีกว่า  "ดูกรสารีบุตร ! ในการให้ทานนั้น บุคคลสมความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน  ให้ทานด้วยคิดว่า  เราตายไปแล้ว  จักได้เสวยผลแห่งทานนี้  เขาผู้นั้นให้ทานแล้ว  เมื่อตายไป  ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช"

 
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพระพุทธฎีกา ตรัสถึงบุคคลที่จักได้มีโอกาสไปเกิดเป็นเทพยดา ณ แดนสุขาวดีจาตุมหาราชิกาสวรรค์และเหตุที่จักได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งเป็นท้าวจุตมหาราชจอมเทพในสวรรค์ชั้นนี้ไว้ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร ว่าดังนี้

"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการคือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ๑

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ในชั้นนั้นได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ
๑.อายุทิพย์
๒.วรรณทิพย์
๓.สุขทิพย์
๔.ยศทิพย์
๕.อธิปไตยทิพย์
๖.รูปทิพย์
๗.เสียงทิพย์
๘.กลิ่นทิพย์
๙.รสทิพย์
๑๐.โผฏฐัพพทิพย์

 
สังคีติสูตร

เหตุที่ยกนำให้ไปอุบัติเกิด ณ จาตุมหาราชิกาสวรรค์ นอกจากที่พรรณนามาแล้วยังมีข้อความอีกประการหนึ่ง อันมีปรากฏในสังคีติสูตร  ซึ่งเป็นข้อความที่พวกเราชาวพุทธบริษัท  ผู้มีโอกาสดีได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ ควรจักรับทราบไว้โดยตระหนักดังต่อไปนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และสิ่งที่เป็นอุปกรณ์แก่ประทีป เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไปและเขาได้ยินมาว่า "พวกเทพเจ้าเหล่าจาตุมหาราชิกามีอายุยืน มีวรรณะงาม มากไปด้วยความสุข" ดังนี้แล้ว เขาจึงรำพึงอย่างนี้ว่า


 
โอหนอ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึง
เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพเจ้าเหล่าจาตุมหาราชิกา


เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ จิตของเขาน้อมไปในสิ่งที่เลว  มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูง  ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในจาตุมหาราชิกานั้นก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับบุคคลผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลายความตั้งใจของบุคคลผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะเป็นของบริสุทธิ์ ดังนี้

 

ผู้ตั้งกระทู้ พระชาญวิทย์ ธมฺมวโร :: วันที่ลงประกาศ 2010-01-27 09:42:08 IP : 58.147.55.136

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น